×

รู้จัก Burnout Syndrome แบบเจาะลึก ก่อนที่จะหมดไฟในการทำงาน

09.12.2019
  • LOADING...
Burnout Syndrome

Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน กลายเป็นคำคุ้นเคยในช่วงเวลานี้ แต่เอาเข้าจริงๆ เรารู้จักภาวะหมดไฟ ชาร์จไม่เข้า จนรู้สึกแย่ได้อย่างถ่องแท้ขนาดไหน เราจำแนกแยกแยะอาการได้ไหม ปัจจัยที่ทำให้เกิดมีอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้มีคำตอบ และเราอยากให้คุณผู้อ่านเตรียมรับมือก่อนที่อาการหมดไฟจะเดินทางมาเยี่ยมเยือน

 

“โลกสมัยใหม่ ทุกคนถือพาวเวอร์แบงก์ติดตัวไปทุกที่ ไฟในกายหมดแล้ว แต่แบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนห้ามหมด เวลาไฟในกายหมด คนเรามักเฉื่อยชา ไร้สิ้นเรี่ยวแรง เวลาแบตเตอรี่หมด คนเรามักกระสับกระส่าย ผุดลุกผุดนั่ง และแสวงหาทุกวิถีทางเพื่อเติมไฟให้จงได้”

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขียนคำนำข้างต้นเอาไว้ ผลงานที่ผ่านมาด้านพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาทั่วไป และสุขภาพ เป็นการยืนยันว่าคุณหมอเขียนหนังสือสนุกและรวมเอาเรื่องทั่วไปในชีวิตมาเชื่อมโยงให้เห็นภาพและเข้าใจตามได้ง่าย

 

ครึ่งแรกของหนังสือเป็นการตอบปัญหาที่คนทั่วไปสงสัย ทั้ง Burnout Syndrome คืออะไร เกิดจากอะไร ปัจจัยแวดล้อม งานหนัก เจ้านาย การทำงานตลอดเวลา ฯลฯ ใช่หรือเปล่า ซึ่งหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจภาวะหมดไฟได้มากขึ้นในทุกๆ บทที่อ่าน ตัวอย่างเช่น ไม่ใช่เฉพาะคนทำงานทั่วไป แม่บ้าน หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยหนัก แพทย์ พยาบาล คนที่ทำงานไม่เป็นเวล่ำเวลาก็ต่างมีโอกาสเจอกับภาวะนี้ได้เช่นกัน, สมาร์ทโฟนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เวลางานและเวลาส่วนตัวเบลอเข้าหากัน และหากไม่จัดการเวลาก็เป็นไปได้ว่าชีวิตจะพังตามมา, องค์ประกอบของ Burnout Syndrome คือภาระงานมากเกินตัวและบรรยากาศการทำงาน, วัฒนธรรมไทยที่มีการแบ่งชนชั้น ทำงานตามคำสั่ง ขาดการจัดลำดับความสำคัญ ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟได้เช่นกัน

 

ครึ่งหลังของหนังสือเน้นไปที่การรวบรวมงานวิจัย วารสาร ตำราแพทย์ แบบประเมินอาการ Burnout Syndrome พร้อมทั้งคำอธิบายทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำงานของสมองเมื่อเกิดภาวะหมดไฟ บทท้ายๆ เป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด 

 

“Burnout เกิดได้กับคนทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารเงินเดือนหลักแสนไปจนถึงกรรมกรสตรีที่รับค่าจ้างรายวันไม่ถึง 300 บาทตามกฎหมาย… คนเรามักจะ Burnout เมื่อพบภาระงานมากเกินตัวและขาดอิสระในการทำงาน… กลายเป็นองค์ประกอบสองอย่างที่หมุนวนทำร้ายตนเองจนกลายเป็นวงจรร้ายที่ซ้ำเติมภาวะหมดไฟให้จมลงไปเรื่อยๆ”

 

Burnout Syndrome เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคนมากยิ่งขึ้น เมื่อโลกในศตวรรษที่ 21 หมุนเร็วจนเราตามแทบไม่ทัน การทำความรู้จักภาวะหมดไฟเอาไว้และกล้าเผชิญหน้ากับมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรทำ เพราะในอนาคตภาวะหมดไฟในการทำงานจะกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่เราต่างต้องพบเจอ

 

อ่านบทความที่เกี่วข้องได้ที่ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising