×

Burning มือเพลิง (2018) คนหนุ่มสาวผู้ถูกแผดเผามอดไหม้ในนรกโชซอน

26.07.2022
  • LOADING...
Burning

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*

 

โอกาสที่ Burning มือเพลิง (2018) เข้ามาให้รับชมกันบน Netflix เราอยากชวนสำรวจภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมและรางวัลอย่างล้นหลาม จากฝีมือการแสดงอันน่าทึ่งของ ยูอาอิน, ชอนจงซอ และ สตีเฟน ยอน ถ่ายทอดผ่านสายตาของ อีชางดง ผู้กำกับรุ่นใหญ่ ซึ่งผลงานของเขามักจะถ่ายทอดภาพคนชายขอบและปัญหาสังคม กับเรื่องนี้ว่าแม้ต้นฉบับจะมาจากเรื่องสั้น Barn Burning จากหนังสือ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน ของ ฮารูกิ มูราคามิ แต่นับว่าได้มีการดัดแปลงรายละเอียดให้ตัวละครเชื่อมโยงกับบริบทในเกาหลีใต้ได้อย่างดี

 

 

หนังเล่าเรื่องราวของ จงซู (ยูอาอิน) ชายหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบและปลดทหารมาแล้ว ได้บังเอิญพบกับ แฮมี (ชอนจงซอ) เพื่อนที่เคยอยู่ละแวกบ้านในชนบทเดียวกัน แต่แล้วความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่กำลังดำเนินไปกลับมี เบน (สตีเฟน ยอน) ชายหนุ่มที่ร่ำรวยและลึกลับก้าวเข้ามาในชีวิตของพวกเขาในวันหนึ่ง

 

หากจะมีภาพใดที่บ่งบอกสถานะทางสังคมได้ชัดเจนที่สุด ก็หนีไม่พ้นที่อยู่อาศัยของตัวละคร อพาร์ตเมนต์ของแฮมีเป็นตึกแถวขนาดเล็กที่จงซูเอ่ยปากชมว่าดูดี เพราะห้องเก่าของเขาสมัยเรียนมีชักโครกอยู่ติดกับอ่างล้างจานด้วยซ้ำ ขณะที่เบนอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ราคาแพงย่านคังนัม ห้องชุดของเขาแบ่งสัดส่วนพื้นที่ชัดเจน ระเบียงกว้างขวางปลอดโปร่ง มีแสงแดดส่องตลอดเวลา ไม่เหมือนหน้าต่างบานเล็กของแฮมี ที่แต่ละวันจะมีแสงอาทิตย์ตกกระทบจากโซลทาวเวอร์ลอดผ่านเข้ามาในห้องเพียงชั่วครู่เท่านั้น

 

“ต้องโชคดีมากๆ ถึงจะได้เห็น” แสงเลือนรางปรากฏขึ้น และดึงความสนใจของจงซูไปอย่างสิ้นเชิงขณะร่วมรักกับแฮมีอย่างคนไม่ประสีประสา หลังจากนั้นเขาก็จ้องมองหอคอยในห้วงสุขสมอยู่หลายครั้งราวกับมันกระตุ้นอารมณ์ปรารถนาได้ดีกว่าร่างกายของหญิงสาว

 

สัญลักษณ์ที่สูงที่สุดของโซลแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นปลายปี 1960 ยุคที่เกาหลีใต้ฟื้นตัวจากสงครามเกาหลีและเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไปอย่างก้าวกระโดด กระบวนการกลายเป็นเมืองส่งผลให้ราคาที่ดินในเมืองใหญ่และบริเวณใกล้เคียงพุ่งสูงขึ้นตามจำนวนประชากรในชนบทที่ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมเข้ามาแสวงหาโอกาส ภาพเมืองพาจู บ้านเกิดของจงซูซึ่งติดกับพรมแดนเกาหลีเหนือ ก็เป็นอีกหนึ่งผลพวงของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุตสาหกรรม หลายพื้นที่ในชนบทถูกปล่อยทิ้งร้าง เช่น เรือนเพาะชำผุพัง ที่ไม่มีใครใช้งานมันอีกต่อไป

 

 

จงซูกลับมาบ้านเกิดอีกครั้งด้วยปัญหาคดีความของพ่อ หากไม่นับการทำงานพาร์ตไทม์รับจ้างชั่วคราว เขาก็เป็นเด็กจบใหม่ที่อยู่ในสถานะว่างงานเหมือนกับคนอีกจำนวนมาก ตามที่มีฉากหนึ่งรายงานอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้ว่าเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD

 

การหาอาชีพมั่นคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดคำศัพท์เพื่อใช้อธิบายความกดดันในชีวิตของคนรุ่นใหม่ เช่น 삼포세대 (Sampo Generation) คือเจเนอเรชันแห่งการละทิ้งสามสิ่ง ได้แก่ ความสัมพันธ์ การแต่งงาน และการมีลูก ก่อนจะขยับจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคำว่า N포세대 (N-po Generation) คือการละทิ้งสิ่งต่างๆ นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ความฝัน ไปจนถึงชีวิตของตัวเองในที่สุด

 

อีกคำที่โด่งดังขึ้นมาในโลกออนไลน์คือคำว่า 헬조선 (Hell Joseon) หรือ นรกโชซอน มีผู้ให้คำจำกัดความไว้ว่ามันคือ ‘สถานที่ที่ความทะเยอทะยานถูกบดขยี้ และเจตจำนงเสรีเป็นสิ่งลวงตา’ (It is a place where ambitions are crushed and free will is an illusion. – Steven Denney)

 

คนหนุ่มสาวเปรียบเทียบเกาหลีใต้ในปัจจุบันกับยุคโชซอน (1392-1910) ซึ่งอุปถัมภ์ลัทธิขงจื๊อใหม่เข้ามาเป็นหลักในการปกครองและจัดระเบียบโครงสร้างทางสังคม แม้ราชวงศ์โชซอนล่มสลายพร้อมลำดับชนชั้นไปกว่าร้อยปีแล้ว แต่สภาพสังคมและเศรษฐกิจทุกวันนี้ ทำให้ไม่ว่าพยายามเรียนและทำงานหนักแค่ไหน ก็เหมือนว่าพวกเขาไม่อาจปีนป่ายขึ้นไปได้เร็วเท่าคนที่คาบช้อนทองมาเกิด มีเส้นสายกับกลุ่มนายทุนใหญ่หรือข้าราชการที่คอยเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กัน ไม่ต่างอะไรกับบรรดาชนชั้นปกครองในยุคโชซอน

 

 

โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ความโกรธแค้นแบบนั้นสั่งสมอยู่ในใจจงซู กระทั่งเชื้อเพลิงชั้นดีอย่างเบนปรากฏตัวข้างแฮมี แนะนำอาชีพว่าคือการ ‘เล่น’ หาความสนุกเติมเต็มชีวิต ไม่เคยต้องติดอยู่ภายใต้หล่มหนี้ ครอบครัวผุพัง ยิ่งเมื่อเบนพูดถึงการลงมือเผา ‘เรือนเพาะชำ’ อย่างเลือดเย็นราวกับตัวเองคือพระเจ้าผู้ยอมรับเครื่องเซ่นไหว้จากมนุษย์ อยู่สูงส่งเหนือกฎหมาย และเหนือชนชั้นล่างอย่างเขา ชายหนุ่มที่เรียนจบจากเอกการเขียนสร้างสรรค์ แต่มีผลงานประจักษ์ให้คนดูเห็นอย่างเดียวคือใบคำร้องแก้ต่างให้พ่อตัวเองที่ถูกดำเนินคดีทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แฮมี หญิงสาวผู้แสวงหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ใฝ่ฝันถึงอิสรภาพยิ่งใหญ่ เธอกลับไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าความบันเทิงของคนในวงสังคมชั้นสูง และคล้ายจะยั่วล้อไปกับเนื้อเพลง Touch My Body ของเกิร์ลกรุ๊ป Sistar จากตอนต้นเรื่อง สาวพริตตี้อย่างเธอมีตัวตนขึ้นมาเพียงเพื่อจุดเปลวไฟความต้องการให้ตัวละครชายทั้งสอง อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริงกับจินตนาการ ก่อนจะสลายเป็นควันไปอย่างง่ายดายโดยแทบไม่หลงเหลือหลักฐาน

 

จนถึงท้ายที่สุดแล้ว ซากมอดไหม้ของเรือนเพาะชำและการหายตัวไปของแฮมีไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลยกับเบน เมื่อความรู้สึกเดือดดาลของจงซูเป็นปริศนาทิ้งให้คนดูตัดสินว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพียงการตอกย้ำความไร้อำนาจของชนชั้นล่างว่าทำได้เพียงสร้างจุดจบของเบนผ่านนิยายที่เขาใฝ่ฝัน บรรจุจินตนาการเป็นตัวอักษรอยู่คนเดียวในห้องของแฮมี ในซอกหลืบหนึ่งของเมืองที่เขาไม่มีวันเอาชนะความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising