คุณเคยได้ยินชื่อของเทศกาล Burning Man ไหมนะ เทศกาลที่ว่าด้วยเรื่องศิลปะ งานอินสตอลเลชัน ท่ามกลางความเวิ้งว้างของทะเลทรายแบล็กร็อก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนเรือนแสนจะแห่แหนกันไปใช้ชีวิตอย่างทุลักทุเล บ้างก็พารถบ้านครีเอตหน้าตาแปลกๆ ไปร่วมงาน หรือไม่ใส่เสื้อผ้าไปร่วมงานก็ตาม
เทศกาลที่จัดมากว่า 33 ปีนี้ให้อะไรกับสังคม และจัดขึ้นทำไม เราเองก็ไม่รู้ แต่เห็นแล้วก็รู้สึกอยากไปมาก!
ภาพถ่ายทางอากาศของแบล็กร็อกซิตี้
เทศกาล Burning Man จัดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 33 ปีก่อน โดยสองผู้ก่อตั้งอย่าง ลาร์รี ฮาร์วี และเจอร์รี เจมส์ โดยจัดขึ้นบนชายหาดเบเกอร์ รัฐซานฟรานซิสโก ในครั้งแรกสุดของเทศกาล Burning Man นั้นมีผู้เข้าร่วมเพียง 35 คนเท่านั้น โดยเป็นการมานัดเจอระหว่างเพื่อนเพื่อสังสรรค์กัน และในช่วงท้ายของค่ำคืนได้มีการสร้างหุ่นจำลองลักษณะคล้ายมนุษย์ผู้ชาย พวกเขาเผามันเพื่อแสดงถึงการ ‘แสดงออกอย่างรุนแรง’ ของธรรมชาติที่กระทำต่อมนุษย์ และใครจะไปรู้ว่าเพียงแค่การมานั่งสังสรรค์กันริมหาดในวันนั้น การเผาหุ่นจำลองคล้ายจะเป็นการบูชายัญเหมือนในหนังเรื่อง The Wicker Man (1973) จะกลายมาเป็นเทศกาลที่มีผู้เข้าร่วมเหยียบแสนคนในปีล่าสุดนี้
การก่อสร้าง The Man ที่ชายหาดเบเกอร์ในปี 1989
เผาเลย เผาเลย เผาเลย!
ชื่อเทศกาล Burning Man นี้ตั้งมาจากไฮไลต์สำคัญของเทศกาลเอง ที่จะมีการก่อสร้างหุ่นฟางขนาดใหญ่ไว้ในงานและเผามันในช่วงท้ายๆ ของเทศกาล ซึ่งการเผาที่ว่านี้มีจุดเริ่มต้นจากการจัดงาน Burning Man เล็กๆ นี้บนชายหาดเบเกอร์ ในรัฐซานฟรานซิสโก ซึ่งการเผาหุ่นที่เสมือนเป็นมนุษย์นั้นเป็นการสร้างความทรงจำและเป็นสักขีพยานในการมารวมตัวกันของพวกเขาในครั้งแรก ซึ่งเป็นไอเดียเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า Bonfire Ritual หรือพิธีกรรมที่จะมีการก่อกองไฟเพื่อการรวมกลุ่มกันของมนุษย์ ก่อนที่พวกเขาจะหยิบจับกิจกรรมตรงนี้มาตั้งเป็นชื่อเทศกาล ทั้งยังเป็นการสร้างภาพจำให้กับผู้คนที่มาร่วมงานในปีหลังๆ อีกด้วย
ภาพ The Man ถูกเผาในปี 2014
ภาพ The Man ถูกเผาในปี 2016 ที่มีขนาดลดลงมาแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งมนุษย์เพิ่งจะค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘ไฟ’ เจ้าเปลวเพลิงร้อนแรงนี้คือสัญลักษณ์ของความอบอุ่น ความปลอดภัย และการป้องกันตัว ก่อนที่กองไฟดังกล่าวจะพัฒนาจนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการรวมตัวกันของมนุษย์ ลองนึกถึงวิชาลูกเสือเนตรนารีที่เราจะมีกิจกรรมการแสดงรอบกองไฟ จริงๆ แล้วก็คงคล้ายๆ เช่นนั้นเลย ซึ่งในเทศกาล Burning Man ก็เช่นกัน เขานำเอาหุ่นขนาดยักษ์มาตั้งไว้ก่อนจะเผามันในคืนวันก่อนสิ้นสุดเทศกาล เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงการมาอยู่ร่วมกันของทุกๆ คนในเทศกาล โดยเริ่มต้นจากไซส์เพียง 8 ฟุต (ประมาณ 2.4 เมตร) ในปีแรก ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็น 12 เมตร 15 เมตร และ 22 เมตร ตามลำดับ และสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ได้คือ 32 เมตรในปี 2011 และ 2014 ก่อนจะค่อยๆ ลดขนาดลงมาเหลือเพียง 13 เมตรในปี 2016-2017 เนื่องด้วยเหตุผลของความปลอดภัยนั่นเอง
เสพงานศิลป์สุดสร้างสรรค์
จุดเด่นของเทศกาล Burning Man คงหนีไม่พ้นการมาร่วมกันแสดงพลังไอเดียของงานศิลปะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานอินสตอลเลชัน งานประติมากรรม คอสตูม หรือการรังสรรค์รถยนต์ทุกคันที่ขับเข้ามาในบริเวณแบล็กร็อกซิตี้ ซึ่งเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เมื่อเทียบกับขนาดและสถานที่จัดงานบนทะเลทรายเวิ้งว้าง ใครจะไปคิดว่าเราจะสามารถกินนอนบนรถกลางทะเลทรายแบบไม่มีฟูกนอนก็ได้ หรือพบเจอประติมากรรมขนาดท่วมหัวได้ล่ะ
ประเด็นหลักของการนำเอางานศิลปะหลากหลายแขนงมาไว้ที่แบล็กร็อกซิตี้แห่งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนที่มาร่วมงานให้ร่วมกันแสดงออกถึงจิตวิญญาณของความสร้างสรรค์ ทั้งยังเคารพและให้เกียรติศิลปะที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่หลากหลายจากผู้คนมากมาย เพราะพวกเขาเชื่อว่าศิลปะคือการสร้างการสื่อสารที่มีพลัง ทั้งยังสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับผู้คนมากมาย
ชุมชนเสมือนและการอยู่ร่วมกันแบบอุดมคติ
ในเทศกาล Burning Man นี้ โดยปกติแล้วจะจัดขึ้นราวช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนในทะเลทรายแบล็กร็อก ระยะเวลาการจัดงานนี้จะกินเวลายาวนานถึง 15 วัน โดยจะมีการรังสรรค์เมืองแห่งใหม่ขึ้นมาคล้ายๆ จะเป็นชุมชนเสมือนจริงกลางทะเลทราย มีหมู่บ้านต่างๆ มีประชากร มีกฎในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเรื่องราว ซึ่งเขาจะมีกฎง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อด้วยข้อความง่ายๆ ว่า Anyone may be a part of Burning Man. We welcome and respect the stranger. No prerequisites exist for participation in our community. ไม่ว่าใครที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Burning Man เราพร้อมต้อนรับและเคารพผู้แปลกหน้า และไม่มีข้อกำหนดเบื้องต้นใดๆ ในการเข้าร่วมชุมชนของเรา
นอกจากนี้คุณยังต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับเทศกาลนี้ โดยเขาจะมี Survival Guide ให้คุณเตรียมตัว มีของใช้จำเป็นหลักสำหรับทุกปีคือแว่นตากันฝุ่นหรือผ้าโพกหัว ส่วนของจำเป็นอื่นๆ ก็จะเปลี่ยนไปทุกปี เช่น ปีนี้คุณอาจต้องเตรียมน้ำไป 600 ลิตรสำหรับใช้ดื่มกิน เป็นต้น
ในเทศกาลนี้ไม่มีการใช้เงินแม้แต่บาทเดียว (ยกเว้นค่าบัตรเข้างานและค่าธรรมเนียมสำหรับรถยนต์) โดยภายในงานพวกเขาจะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันอย่างง่ายๆ เช่น เอาข้าวไปแลกเบียร์ หรือคุณอาจจะต้องเต้นเอามันเพื่อแลกกับซุปสักถ้วย ให้ที่แห่งนี้กลายเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปัน ไม่มีชนชั้น ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ทุกคนอาจจะต้องเตรียมไปแชร์กับคนอื่นๆ ด้วย เช่น การรังสรรค์รถตัวเองให้กลายเป็นซุ้มดีเจ เป็นต้น
บริบทของเทศกาลกับสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่เพียงแค่ความน่าสนใจของมันที่เราอยากจะมีโอกาสไปสัมผัสสักครั้ง ในขณะเดียวกัน เทศกาลเผาเทียนเล่นไฟใหญ่โตนี้ยังมีปัญหาที่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน และเป็นที่พูดถึงอยู่ในสื่อต่างชาติด้วย อันเนื่องมาจากสถานที่จัดงานที่อยู่กลางทะเลทราย ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เสมอคือแรงลมของพายุทรายที่คาดเดาไม่ได้ รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนระอุในตอนกลางวันอาจทำให้เกิดการลุกติดของไฟได้ง่าย ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่เทศกาลเองให้ความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงการทำให้ธรรมชาติดั้งเดิมอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด กล่าวคือหากมีกิจกรรมเกิดขึ้นตรงไหนในเทศกาลแห่งนี้ เมื่อสิ้นสุดเทศกาลแล้วทุกอย่างจะต้องกลับไปเป็นปกติให้มากที่สุดหรือดีกว่าเดิมเท่านั้น
ทั้งนี้ Burning Man เองก็ยังวางแผนในการพัฒนาให้เทศกาลของพวกเขาอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนภายในปี 2030 อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟรีคาร์บอนหรือการกำจัดขยะ โดยยังไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ ออกมามากนัก แต่เราคาดว่ามันจะเป็นหนทางที่ดีของการจัดเทศกาลอื่นๆ ในอนาคต ที่จะสามารถสนุกสนานและรักษ์โลกไปพร้อมๆ กันได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- en.wikipedia.org/wiki/Burning_Man
- edition.cnn.com/2019/08/28/us/burning-man-red-flag-warning-trnd/index.html
- www.dezeen.com/2019/08/28/burning-man-installations-pavilions-sculptures-instagram-highlights
- www.theodysseyonline.com/bonfire-mans-ritual
- ค่าบัตรเข้าเทศกาลนี้มีมูลค่าราว 425-1,400 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับรอบของการขายที่แบ่งออกเป็นหลายๆ รอบ มีตั้งแต่การซื้อเป็นกรุ๊ป ซื้อล่วงหน้า บัตรสำหรับคนงบน้อย หรือบัตรลดพิเศษแบบ OMG ซึ่งจะมีจำกัดแต่ละรอบตั้งแต่ 500-1,000 ใบ ตีเป็นเงินไทยราวๆ 13,000-42,900 บาท