×

เกิดอะไรขึ้นที่บูร์กินาฟาโซ? วังวนรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

03.10.2022
  • LOADING...
Burkina Faso

บูร์กินาฟาโซ ประเทศแลนด์ล็อก (Landlocked Country) ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในทวีปแอฟริกา และเป็นอดีตประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส กำลังประสบกับวังวนของการก่อรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกองกำลังทหารในกองทัพ นับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 1960 เป็นต้นมา บูร์กินาฟาโซผ่านการก่อรัฐประหารมาแล้วอย่างน้อยถึง 8 ครั้ง

 

เกิดรัฐประหารซ้ำในรอบ 8 เดือน

เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ร.อ. อิบราฮีม ทราโอเร หัวหน้ากองกำลังพิเศษในกองทัพบูร์กินาฟาโซ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ พ.ท. พอล อองรี ซานเดาโก ดามิบา หัวหน้าทหารกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว Patriotic Movement for Safeguard and Restoration (MPSR) ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรักษาการณ์ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ ภายหลังจากที่ตนโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา 

 

นับเป็นการก่อรัฐประหารซ้ำในรอบ 8 เดือนโดยทหารภายในกองทัพ ซึ่งดามิบาตัดสินใจก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจประธานาธิบดี รอช มาร์ก คริสติยอง กาโบเร ที่มาจากการเลือกตั้ง (ในปี 2015 และปี 2020) โดยให้เหตุผลว่า บูร์กินาฟาโซภายใต้การบริหารงานของกาโบเรไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่ก่อความไม่สงบภายในประเทศ ก่อนที่ดามิบาจะถูกรัฐประหารด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ในท้ายที่สุด

 

กลุ่มผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนาที่เป็นตัวกลางในการเจรจาเผยว่า ดามิบายอมก้าวลงจากตำแหน่งหากคณะรัฐประหารที่นำโดยทราโอเรยอมรับเงื่อนไขที่ตนจะเสนอ ซึ่งรวมถึงการรับประกันความปลอดภัยให้กับตัวดามิบาเอง และให้คำมั่นว่าคณะรัฐประหารจะเปลี่ยนผ่านและถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองกลับคืนสู่มือของประชาชนภายในเดือนกรกฎาคม 2024

 

กลุ่มก่อการร้ายและมุสลิมกลุ่มที่เป็นหัวรุนแรง ปัญหาเรื้อรังในบูร์กินาฟาโซ

ความล้มเหลวในการปราบปรามบรรดากลุ่มก่อการร้ายและมุสลิมกลุ่มที่เป็นหัวรุนแรงในบูร์กินาฟาโซ มักถูกใช้เป็นเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมในการช่วงชิงอำนาจนำภายในประเทศแห่งนี้ 

 

โดยบูร์กินาฟาโซถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มไอเอสในแอฟริกา ซึ่งเริ่มปะทุเป็นความรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาลีในปี 2012 ก่อนที่จะขยายพื้นที่ไปยังประเทศอื่นๆ ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา และปะทุกลายเป็นเหตุจลาจลในบูร์กินาฟาโซเมื่อปี 2015 เรื่อยมา

 

ปัจจุบันกลุ่มก่อการร้ายและมุสลิมหัวรุนแรงเหล่านี้สามารถยึดครองพื้นที่ได้มากถึง 40% ของบูร์กินาฟาโซในช่วงเวลานี้ มีผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากเหตุโจมตีและการปะทะกัน หลายล้านชีวิตต้องอพยพหนีเอาชีวิตรอด แม้ดามิบาจะให้คำมั่นว่าจะจัดการกับวิกฤตด้านความมั่นคงนี้เมื่อครั้งก่อรัฐประหารเมื่อปลายเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับการรุกคืบของกลุ่มก่อการร้ายและมุสลิมหัวรุนแรงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเปิดช่องโหว่ให้กับตัวละครใหม่เข้ามามีบทบาทในเกมการเมืองระดับชาติและในกองทัพของบูร์กินาฟาโซ จนดามิบาถูกทราโอเรก่อรัฐประหารซ้ำ จนตนต้องยอมก้าวลงจากตำแหน่งรักษาการผู้นำประเทศและลี้ภัยออกนอกประเทศในที่สุด

 

แรงสนับสนุนรัสเซียที่เพิ่มมากขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แรงสนับสนุนรัสเซียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในบูร์กินาฟาโซ หลังจากมีประชาชนจำนวนไม่น้อยมองว่าอดีตเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างฝรั่งเศสเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความไม่สงบทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังไม่ร่วมมือแก้ไขปัญหาเรื้อรังในบูร์กินาฟาโซนี้อย่างจริงจัง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้อพยพพลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก

 

แรงสนับสนุนดังกล่าวยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อกองทัพรัสเซียกลายเป็นภาพจำของกองกำลังที่มีความเด็ดขาดและมีความสามารถ หลังกองทัพรัสเซียเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แถบนี้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปปฏิบัติการในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ทั้งทำหน้าที่ปกป้องประธานาธิบดี ดูแลความสงบเรียบร้อยของบริษัทขุดเหมืองเพชรของรัสเซียในพื้นที่ รวมถึงทหารรับจ้างรัสเซียที่ต่อสู้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

อีกทั้งปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาลี โมซักบิก ลิเบีย และซูดาน อีกด้วย ส่งผลให้ชาวบูร์กินาฟาโซจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาสนับสนุนและพร้อมอ้าแขนรับความช่วยเหลือจากประเทศรัสเซียมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่ารัสเซียจะเข้ามาช่วยเหลือประเทศนี้เช่นเดียวกับที่เข้าไปปฏิบัติการในประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา 

 

แรงสนับสนุนดังกล่าวสั่นคลอนอำนาจและเขตอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมเดิมในแถบแอฟริกาอย่างฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ทวีปนี้กลายเป็นอีกหนึ่งภูมิรัฐศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและรัสเซียจะใช้เป็นเวทีในการแข่งขันกันแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพล ยังไม่นับรวมพญามังกรอย่างจีนที่ก็พยายามเข้ามามีอิทธิพล ผ่านการส่งมอบความช่วยเหลือด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศแถบแอฟริกาด้วยเช่นเดียวกัน

 

ไม่แน่ว่าบูร์กินาฟาโซภายใต้การนำของทราโอเรอาจต้องพบกับวังวนรัฐประหารที่กัดกินประเทศนี้อีกครั้งในไม่ช้า หากทราโอเรไม่สามารถปราบปรามการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายและมุสลิมหัวรุนแรงภายในประเทศและยึดพื้นที่คืนมาได้ จุดนี้อาจเปิดโอกาสให้กับตัวละครใหม่ในกองทัพบูร์กินาฟาโซตัดสินใจก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกก็เป็นได้ 

 

ภาพ: Radiodiffusion Télévision de Burkina / AFP

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising