หากเปรียบ Burger King เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตสักคนหนึ่ง หน้าตาเป็นอย่างไรอาจไม่รู้แน่ชัด แต่นิสัยนั้นมี ‘ความเกรียน’ ฝังลึกอยู่ใน DNA อย่างแน่นอน
ที่บอกอย่างนั้นเพราะเรามักจะได้เห็นโฆษณาที่ออกมาแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างชัดเจน อย่างเช่น ในไทยก็เพิ่งหยิกแกมหยอกกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง McDonald’s ด้วยภาพถุง Burger King ที่วางอยู่หน้า โรนัลด์ แมคโดนัลด์ ผู้เป็นมาสคอตหลักของ McDonald’s
หรือย้อนกลับไปหลายคนก็น่าจะเคยผ่านตากับ Print Ad ร้าน Burger King ที่ถูกไฟไหม้และมีเหล่านักดับเพลิงกำลังช่วยกันดับไฟ ภาพดังกล่าวเป็นโฆษณาก็จริง แต่เป็นการหยิบร้านที่ถูก ‘ไฟไหม้จริงๆ’ ไม่มีตัวแสดงแทน เพื่อย้ำว่าเบอร์เกอร์ของ Burger King ย่างบนเปลวไฟมาตั้งแต่ปี 1954
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘The Real Cheeseburger’ ที่มีเพียงชีส 20 แผ่นจุกๆ จาก Burger King บทพิสูจน์หมากรบทางการตลาด ‘ไม่ขายขำ นี่ขายจริง!’ ที่สร้างไวรัลไปทั่วโลก
- ครั้งแรกในไทยกับ ‘เบอร์เกอร์ช็อกโกแลต’ เมนูสุดครีเอตที่รวมเอาของคาวและของหวานมาไว้ด้วยกันจาก ‘Burger King’
- ถึงเวลา Burger King เจาะลูกค้ากลุ่มเด็กด้วย ‘เมนูคิง จูเนียร์’ ที่ลดผักและทำให้รสชาติกลางๆ แถมเป็นครั้งแรกที่ทำราคาเริ่มต้น 99 บาท
ความเกรียนนี้ถึงกับโดนใจคณะกรรมการงานโฆษณาระดับโลก จนสามารถคว้ารางวัลสูงสุด Grand Prix หมวด Print & Publishing ในงาน Cannes Lions 2017 ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส
แหม! เล่นตัวเองเจ็บน้อยกว่า แถมยังได้ใจผู้คนในแวดวงโฆษณาด้วยกันเองด้วย
ที่เราหยิบความเกรียนของ Burger King ออกมา เพราะจะบอกว่าไม่ได้มีเพียงแค่โฆษณาเท่านั้น แต่ยังมีเมนูที่ยัดความเกรียนไปเต็มขั้นอย่าง ‘The Real Cheeseburger’ ที่มีเพียงชีส 20 แผ่นจุกๆ ที่ย้ำว่า ‘ไม่ขายขำ นี่ขายจริง!’ จนสร้าง ไวรัลไปทั่วโลก
“เมนูนี้มาจากอินไซต์ของคนไทยที่ว่าชอบชีสเป็นอย่างมาก เมื่อบวกกับความเกรียนที่มีไม่แพ้กันของทีมงานเลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น” ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกกับ THE STANDARD WEALTH “เราโฆษณาแค่ช่องทางออนไลน์ด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าเป็นกระแสมาก”
กระแสแรงมากขึ้นถึงขั้นสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง CNN หยิบไปเล่าในรายการของตัวเอง รวมถึงอินฟลูเอ็นเซอร์และลูกค้าที่ซื้อมาโพสต์กันอย่างสนุกสนาน
บางคนถึงขั้นสั่งใส่ชีส 100 แผ่น จนสงสัยว่ากินหมดในครั้งเดียวไหม แต่ธนวรรธอธิบายว่า บางคนซื้อมาแบ่งชีสเก็บไว้ แล้วกินที่พอไหว
ที่สำคัญบางครั้งกระแสมักจะไม่ได้มาพร้อมกับยอดขาย แม้จะมีการพูดถึงกว่า 10 วันซึ่งถือว่านานมาๆ สำหรับไวรัลออนไลน์ที่มักอยู่แค่ 2 วันแต่สำหรับ The Real Cheeseburger ได้ทั้งกระแสและยอดขายทะลุเป้าไปเลย
“ยอดขายเกินกว่าที่เราวางไว้ 700-800%” ธนวรรธกล่าว พร้อมกับขอเลี่ยงที่จะลงรายละเอียดเป็นตัวเงิน
ธนวรรธย้ำว่า บทเรียนที่ได้จากแคมเปญนี้คือ นักการตลาดต้องสร้างเนื้อหาที่อยู่ในความต้องการของลูกค้าจริงๆ โดยหยิบความต้องการที่มีเป็นร้อยเรื่องออกมาให้ได้
ที่สำคัญคือรู้จักล้มเหลวบ้าง เพราะอย่าง Burger King ในไทยก็ไม่ใช่ทุกแคมเปญจะประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้จากความล้มเหลว แล้วค่อยไปเกรียนใหม่
คำพูดสมกับ DNA ของ Burger King จริงๆ 🙂