คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ กพอ. เปิดเผยถึงผลการประชุม กพอ. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่ามีมติเห็นชอบกรอบระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่สาธารณูปโภคโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมส่งพื้นที่
แต่ให้เร่งรัดส่งพื้นที่ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ภายใน 1 ปี 3 เดือน หรือเต็มที่ไม่เกิน 2 ปีหลังลงนาม
ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร ให้เร่งรัดพร้อมส่งพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม
ทั้งนี้มีกำหนดจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปี 2566-2567 ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง ปี 2567-2568
แต่หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสามารถขยายเวลาให้เอกชนทำงานต่อไปได้ และจะไม่มีการชดเชย เนื่องจากว่าเอกชนรับทราบเงื่อนไขในการลงทุนแล้วว่าจะต้องแบกรับต้นทุนบวกความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว
สำหรับงบการรื้อย้ายสาธารณูปโภค 8 หน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ต้องการรื้อสายไฟ ทั้งหมดได้เตรียมงบประมาณไว้เบื้องต้น คาดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยงบดังกล่าวจะกระจายให้ 8 หน่วยงานเพื่อใช้ในการรื้อย้าย
ส่วนบางกรณีสำหรับบางหน่วยงานอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณของตัวเอง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องมีการรื้อแนวท่อก๊าซ และแนวท่อน้ำมันใต้ดิน
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า หลังจากนี้จะรับเอามติ กพอ. เพื่อส่งให้กับคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากนั้นจะแก้ไขแนบท้ายในสัญญาตามมติ กพอ. พร้อมเตรียมลงนามกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ในวันที่ 25 ตุลาคม
ส่วนโมเดลการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มี อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานโครงการและโครงการอื่นด้วย
ภาพ: eeco.or.th
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์