วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้มีความมั่งคั่งกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีลูก 3 คน แนะนำพ่อแม่ทุกคน ไม่ว่าจะมีความมั่งคั่งเล็กน้อยหรือมหาศาล นั่นคือ ควรให้ลูกๆ อ่านพินัยกรรมก่อนจะลงนาม
“ทำให้แน่ใจว่าลูกๆ แต่ละคนเข้าใจทั้งเหตุผลในการตัดสินใจของคุณและความรับผิดชอบที่พวกเขาจะต้องเผชิญเมื่อคุณเสียชีวิต” บัฟเฟตต์กล่าว
พร้อมระบุต่อว่า “คุณคงไม่อยากให้ลูกๆ ของคุณถามว่า ‘ทำไม’ เกี่ยวกับการตัดสินใจในพินัยกรรมในยามที่คุณไม่สามารถตอบได้อีกต่อไป” อีกทั้งยังมองว่า “การสนทนาที่ยากลำบากจะทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
ขณะที่ ดักลาส โบนพาร์ธ นักวางแผนการเงิน ผู้ก่อตั้งและประธาน Bone Fide Wealth ในนิวยอร์กซิตี้ เห็นด้วยกับคำแนะนำของบัฟเฟตต์ในการเปิดเผยแผนการจัดการมรดก โดยระบุว่า “การสนทนาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยาก แต่มีความหมาย และหากพูดคุยกันอย่างถูกต้องจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ได้
“จินตนาการของลูกๆ สามารถโลดแล่นไปกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าควรได้รับ ดังนั้นคุณควรชัดเจนและละเอียดถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ว่าใครจะได้รับอะไรและทำไม” โบนพาร์ธกล่าว
บัฟเฟตต์เล่าอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาเห็นครอบครัวหลายครอบครัวแตกแยกกันจากคำสั่งในพินัยกรรมหลังเสียชีวิต ทำให้ผู้รับผลประโยชน์สับสนและบางครั้งก็โกรธ ความอิจฉาริษยารวมถึงการดูถูกเหยียดหยามที่เกิดขึ้นจริงหรือจินตนาการขึ้นในวัยเด็กทวีความรุนแรงมากขึ้น
โบนพาร์ธแนะว่า หากมรดกไม่ได้ถูกแบ่งให้พี่น้องเท่าๆ กัน คุณจะต้องอธิบายว่าทำไม โดยบางทีลูกคนหนึ่งอาจได้รับมรดกมากกว่า เพราะอีกคนหนึ่งควรได้รับความช่วยเหลือในการดาวน์บ้านหรือเข้าเรียนในวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก
แคโรลีน แมคคลานาฮาน ผู้ก่อตั้ง Life Planning Partners แนะนำอีกว่า “ตอนที่กำลังจัดทำเอกสารเกี่ยวกับมรดก ควรถามลูกๆ ล่วงหน้าว่าอะไรสำคัญสำหรับพวกเขา เพื่อคุณจะได้คำนึงถึงสิ่งนั้น”
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีพ่อแม่ควรปกปิดข้อมูลบางอย่างไว้ในพินัยกรรม ตัวอย่างเช่น เธอจะแนะนำให้พ่อแม่ระมัดระวังมากขึ้นหากลูกๆ ต้องการเอาเปรียบพ่อแม่ ขณะเดียวกันหากเด็กไม่มีความรับผิดชอบต่องานหรือเงิน การจะได้รับมรดกจำนวนมากอาจกัดกร่อนจริยธรรมในการทำงานและความทะเยอทะยานของลูกๆ มากขึ้น
“หากคุณมีลูกที่ยังไม่โต การแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายได้” แมคคลานาฮานกล่าว พร้อมเสริมว่า เธออาจแนะนำให้ลูกค้าในสถานการณ์เช่นนี้เขียนจดหมายถึงลูกๆ ของพวกเขา ซึ่งพวกเขาจะไม่เห็นจนกว่าพวกเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว เพื่ออธิบายถึงการตัดสินใจเรื่องมรดกของพวกเขา
“แต่ละครอบครัวแตกต่างกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ควรมีกฎเกณฑ์ตายตัว” แมคคลานาฮานกล่าว
อ้างอิง: