×

นายกฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.งบ 69 ต่อสภา ชู 6 ยุทธศาสตร์ครอบคลุมทุกมิติ ยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง ยืนยันประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2025
  • LOADING...
แพทองธาร ชินวัตร แถลงร่างงบประมาณปี 2569 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้ (28 พฤษภาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงิน 3,780,600 ล้านบาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระแรก

 

นายกรัฐมนตรีระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ 69 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางสังคม ผ่านการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทต่างๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

 

คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2569 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล 2.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงฐานะการคลังว่า มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนมีนาคม 2568 จำนวน 12 ล้านล้านบาท คิดเป็ 64.4% ของ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ และปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 252,124.8 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

 

นายกรัฐมนตรียังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังตึงตัว คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็น 1.75% ต่อปี ในการประชุมเดือนเมษายน 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป

 

นายกรัฐมนตรียังย้ำความจำเป็นถึงการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

สำหรับสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,652,301.3 ล้านบาท คิดเป็น 70.2% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท คิดเป็น 3.3% รายจ่ายลงทุน จำนวน 864,077.2 ล้านบาท คิดเป็น 22.9% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 151,200 ล้านบาท คิดเป็น 4% โดยรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,519.6 ล้านบาท

 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงงบประมาณจำแนกตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ดังนี้

 

  • ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 415,327.9 ล้านบาท คิดเป็น 11% ของวงเงินงบประมาณ
    • การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,475.0 ล้านบาท
    • การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 5,418.3 ล้านบาท
    • การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด 5,462.3 ล้านบาท
    • การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 13,436.1 ล้านบาท
    • การป้องกันและแก้ไขที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 23,842 ล้านบาท
    • การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณ 26,685.5 ล้านบาท
    • การรักษาความสงบภายในประเทศ การพัฒนาศักยภาพการป้องกัน และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 92,519 ล้านบาท
    • การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น 40,621.5 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 205,867.3 ล้านบาท

 

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 394,611.6 ล้านบาท คิดเป็น 10.5% ของวงเงินงบประมาณ
    • การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 470.1 ล้านบาท
    • การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 1,555.4 ล้านบาท
    • การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน 1,935.8 ล้านบาท
    • การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 4,044.5 ล้านบาท
    • การส่งเสริม SMEs ที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ 4,196.0 ล้านบาท
    • การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 5,884.2 ล้านบาท
    • การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 8,075.1 ล้านบาท
    • เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 8,341.1 ล้านบาท
    • การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 11,467.7 ล้านบาท
    • การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 19,828.3 ล้านบาท
    • การเกษตรสร้างมูลค่า 35,054.9 ล้านบาท
    • การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 211,963 ล้านบาท
    • การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น 38,112.9 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 43,682.6 ล้านบาท

 

  • ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 605,927.3 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของวงเงินงบประมาณ
    • การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม 3,447.7 ล้านบาท
    • การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา 3,832.7 ล้านบาท
    • การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี 71,868.0 ล้านบาท
    • การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 73,531.1 ล้านบาท
    • การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น 23.533.8 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 429,714.0 ล้านบาท

 

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 942,709.2 ล้านบาท คิดเป็น 24.9% ของวงเงินงบประมาณ
    • การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน และการส่งเสริมเศรษฐกิจ ฐานราก 3,930.1 ล้านบาท
    • มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มและการรองรับสังคมสูงวัย 14,010.8 ล้านบาท
    • การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 26,525.2 ล้านบาท
    • การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม 101,641.2 ล้านบาท
    • การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 380,144.5 ล้านบาท
    • การสร้างหลักประกันและพลังทางสังคม 407,119 ล้านบาท
    • การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน 665.6 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 8,672.8 ล้านบาท

 

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 147,216.9 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% ของวงเงินงบประมาณ
    • การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 1,144.2 ล้านบาท
    • การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 2,368.3 ล้านบาท
    • การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการสนับสนุนการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 7,660.9 ล้านบาท
    • การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 107,485.7 ล้านบาท
    • การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น 10,826.5 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 17,731.3 ล้านบาท

 

  • ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 605,441.6 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของวงเงินงบประมาณ
    • การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 961.2 ล้านบาท
    • รัฐบาลดิจิทัล 6,921.7 ล้านบาท
    • การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 17,881.0 ล้านบาท
    • การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 30,296.8 ล้านบาท
    • การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 408,337.7 ล้านบาท
    • การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน 25,890.4 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 115,152.8 ล้านบาท

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายการค่าดำเนินการภาครัฐว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 669,365.5 ล้านบาท คิดเป็น 17.7% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง

 

  • แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 123,960 ล้านบาท
  • การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 421,864.4 ล้านบาท
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท

 

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 69 ที่รัฐบาลเสนอในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟู และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ภายใต้ข้อจำกัดด้านรายได้และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

 

รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งในด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ตลอดจนปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างแท้จริง และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising