การบวชนาคถือเป็นพิธีกรรมที่มีจุดกำเนิดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ไม่ได้มีในชมพูทวีปหรืออินเดียโบราณ เพราะในวินัยของพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติหรือกล่าวถึงเรื่องพิธีกรรมการบวชนาคให้เป็นพระ แต่ในประเพณีไทยตั้งแต่โบราณ กลับเรียกการอุปสมบทว่า พิธีกรรมบวชนาคให้เป็นพระ ไม่ใช่การบวชคนให้เป็นพระ
ความเชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นจากตำนานเรื่องเล่าที่เชื่อกันว่า ในสมัยพุทธกาลมีพญานาคผู้มีฤทธิ์ตนหนึ่ง มีความฝักใฝ่ในพุทธศาสนาจึงได้แอบแปลงกายเป็นคนมาขอบวชเป็นพระ แต่ด้วยญาณอันวิเศษของพระพุทธเจ้า ทำให้เห็นว่าบุคคลคนนี้ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นนาคที่แปลงกลายมา จึงขับให้ลาสิกขา
พญานาคจึงร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะขอบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า ‘นาค’ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดประเพณีเรียกว่า ‘ทำขวัญนาค’ ‘ขานนาค’ หรือ ‘บวชนาค’ ดังนั้นในกระบวนการหนึ่งของการบวชจึงจำเป็นต้องมีการ ‘ขานนาค’ ที่พระคู่สวด (พระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์) ต้องกล่าวถามแก่บุคคลที่จะขอบวชเป็นภาษาบาลีว่า “มนุสฺโสสิ” ที่แปลว่า เป็นคนหรือเปล่า กลายมาเป็นประเพณีหนึ่งในการบวชพระในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ตีความสัญญะของพิธีกรรมการบวชนาคไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นการปะทะ/ประสาน/ต่อรองกันระหว่างผีและพุทธ นาคในที่นี้จึงมีความหมายในเชิงของผู้ที่ไม่มีอารยะ หรือคนพื้นเมืองในอุษาคเนย์เดิม ที่ยังคงนับถือผี และมีวัฒนธรรมสายแม่นั้นเอง
ผู้หญิงจึงมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต รวมถึงการเป็นหมอรักษาด้วย ดังนั้นแม่จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมดังกล่าว เพราะแม่ถือเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเดิม จะต้องเป็นผู้คอยอุ้มผ้าไตรของลูกชาย เพื่อส่งเข้าสู่อุโบสถเพื่อทำอุปสมบทหรือบวช เมื่อบวชเสร็จจึงหมายถึงการตัดขาดระหว่างแม่กับลูก แม่ก็ไม่สามารถแตะเนื้อตัวลูก (ในฐานะพระ) ได้อีก จึงเป็นการตัดขาดระหว่างพุทธกับผี
คติว่าด้วยแม่กับการส่งลูกชายบวชนี้สะท้อนผ่านวัฒนธรรมอื่นๆ ในสังคมไทยด้วย เช่น วัฒนธรรมเรื่องผ้า โดยกล่าวกันว่าผู้หญิงคนหนึ่งนั้น ในชีวิตหนึ่งจะต้องทอผ้าสำคัญๆ อยู่ 4 ผืนด้วยกันคือ 1. ผ้าอ้อมให้ลูก 2. ผ้าใส่แต่งงาน 3. ผ้าจีวรลูก และ 4. ผ้าไว้ใส่ตอนตัวเองตาย (ผ้าห่อศพ) หากแม่คนใดมีลูกสาว ผ้าจีวรก็จะถูกทอเป็นผ้าห่อธัมม์แทน
อย่างไรก็ตามค่านิยมว่าด้วยการบวชนาคหรือบวชพระในสังคมไทยกลับมีลักษณะที่เปลี่ยนไป การบวชจากเดิมคือการสละแล้วซึ่งทางโลก มุ่งสู่คุณค่าในทางหลักธรรม เพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมุ่งสู่ความคาดหวังอันสูงสุดคือ การเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางของการบวช แต่การบวชในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องของคุณค่าและหน้าที่อันเป็นค่านิยมสำคัญในสังคมไทยคือ ค่านิยมว่าด้วยการเป็น ‘ลูกที่ดี’ และ การเป็น ‘พ่อแม่ที่ดี’
คุณค่าว่าด้วยการเป็นลูกที่ดี เกิดขึ้นจากค่านิยมที่เชื่อกันว่า การบวชเป็นการสร้างบุญที่ได้กุศลมาก เป็นโอกาสอันดีที่ลูกชายจะตอบแทนพระคุณบิดามารดา โดยเชื่อว่า ‘ลูกชายที่บวชเรียนจะสามารถช่วยให้บิดามารดาได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์’ ดังนั้นการบวชจึงเป็นเรื่องการตอบแทนคุณพ่อแม่ ลูกที่ประสงค์บวช (หรือแม้แต่ถูกบังคับ) ให้พ่อแม่จึงมีคุณค่ากับการเป็นลูกกตัญญู ในปัจจุบันเราจึงพบเห็นการบวชตามประเพณี หรือการบวชตามคุณค่าดังกล่าวนี้เป็นค่านิยมหลักของคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะ บวช 7 วัน 15 วัน 1 เดือน หรือมากที่สุดคือ 3 เดือน หรือ 1 พรรษา
ส่วนคุณค่าการเป็น ‘พ่อแม่ที่ดี’ หากลูกคนใดประสงค์บวชให้แล้ว จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมการบวชให้ลูกอย่างดี หรือเรียกภาษาชาวบ้านๆ ว่า ‘ทุ่มทุน’ ไม่ว่าจะเงินทอง มหรสพ ความบันเทิงต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นค่านิยมนี้ได้ในบทเพลงที่เกี่ยวกับการบวชเพลงหนึ่ง คือเพลง ‘กล่อมใจนาค’ ประพันธ์โดย ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ โดยมีเนื้อร้องสะท้อนค่านิยมดังกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจนว่า
“…จะเข็ญใจทำไร่ทำนา กู้เงินเขามาไม่อนาทร พ่อรวบรวมเงินไว้เป็นก้อน เห็นลูกห่มจีวรพ่อก็ชื่นอุรา […] นาคบ้านเหนือเขามีหนังรำวง พ่อนาคก็คงจะประสงค์หมายมั่น จะคิดประชันจะคิดประชันขันแข่ง พ่อก็มีใบแดงเป็นปึกหนา อย่าทุกข์ใจปล่อยจิตรวนเร นั่นแน่ะลิเกของเราก็มา บวชลูกทั้งที ต้องให้มีสง่า ทั้งเครื่องขยายไฟฟ้า ดังแจ่มจ้าสุขใจ…”
จากเหตุการณ์ผู้ร่วมพิธีแห่นาคบุกทำร้ายผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และเด็กนักเรียนที่กำลังสอบที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เนื่องจากไม่พอใจที่ทางโรงเรียนได้มีการตักเตือนให้มีการเบาเสียงในพิธีแห่นาคลงนั้น ถือเป็นภาพการสะท้อนของการปะทะกันระหว่างคุณค่าเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย คือประเพณีการบวชนาค กับคุณค่าใหม่ในสังคมปัจจุบันเรื่องของสิทธิและเสรีภาพในความต้องการความสงบเพื่อสมาธิในการสอบของเด็กๆ
ฝ่ายงานบวชก็พยายามใช้วัฒนธรรมประเพณีในการอ้างความชอบธรรมดังที่มีคำพูดปรากฏเป็นหัวข้อข่าวที่ว่า “งานบวชจะให้เดินเงียบๆ ได้อย่างไร” ส่วนเด็กนักเรียนที่กำลังนั่งสอบก็ถูกรบกวนจากเสียงของเครื่องแห่จากพิธีบวช ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขา ซึ่งต้องการความสงบเพื่อสร้างสมาธิในการทำข้อสอบอันมีผลต่ออนาคตอันเป็นคุณค่าของตนในปัจจุบัน เมื่อเกิดการปะทะกันจึงทำให้เกิดปัญหาตามมา จากความคึกคะนองของอีกฝ่ายที่อ้างความชอบธรรมฝ่ายประเพณี จึงนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่ออีกฝ่ายผ่านการอ้างความชอบธรรมตามประเพณีเช่นกัน
เหตุการณ์นี้มีลักษณะคล้ายกับกรณีปัญหาเรื่องระฆังวัดกับคอนโดที่เคยเป็นข่าวมาเมื่อไม่นานมานี้ พระก็อ้างความชอบธรรมของการตีระฆังด้วยเกณฑ์คุณค่าทางศาสนา คอนโดก็อ้างความชอบธรรมด้วยเรื่องของสิทธิเสรีภาพที่ถูกรบกวนด้วยเสียงระฆัง ต่างกันเพียงกรณีคอนโดไม่เกิดความรุนแรง
ทีนี้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวประเพณีหรือพิธีกรรม แต่ผู้เขียนคิดว่าปัญหามันอยู่ที่ว่าคนในสังคมไทยไม่เข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพดีพอ คนไทยมักอ้างสิทธิเสรีภาพเพื่ออ้างความชอบธรรมในการกระทำใดใดของตัวเอง โดยไม่สนว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นอยู่หรือไม่ เหมือนคำพูดที่มักพูดติดปากออกมาง่ายๆ ว่า “สิทธิของกู กูจะทำอะไรก็ได้”
คำคำนี้สะท้อนภาพปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน มันจึงทำให้เกิดกรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ จำนวนมาก และถูกมองข้ามอย่างหน้าตาเฉยในสังคมไทย
นอกจากอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างมั่วๆ แล้ว ยังพร้อมอ้างสิทธิการใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาอีกด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่งในสังคมไทยไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ทั้งการทำรัฐประหารในทางการเมือง การขัดขวางการเลือกตั้ง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จนถึงเหตุการณ์แห่นาคระทึกที่เป็นข่าว สิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาโดยการอ้างสิทธิความชอบธรรมฝ่ายวัฒนธรรมทั้งนั้น อย่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายงานบวชก็อ้างอิงการจัดกิจกรรมพิธีกรรมของตัวเอง ผ่านคุณค่าเชิงวัฒนธรรม แต่กลับไม่ระลึกถึงสิทธิของผู้อื่นที่กำลังถูกละเมิด
ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเกิดความไม่พอใจ ก็ใช้คุณค่าเชิงวัฒนธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรม (ทำ) ในการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา มากกว่าการกลับมาคำนึงและพิจารณาถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของตนเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น หรือสิทธิของเรานั้นไปกระทบสิทธิของใครต่อใครหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่านี่แหละคือตัวปัญหา และส่งผลต่อปัญหาใหญ่ๆ อีกมากในสังคมไทย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.matichon.co.th/columnists/news_216181
- www.youtube.com/watch?v=gi_GNiQkbfE
- ชนกมาลย์ คงยก, “ผ้า” สื่อกลางระหว่างความเชื่อกับพิธีกรรม: กรณีศึกษาผ้านาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง, วารสารดำรงวิชาการ, ฉบับเดือน ก.ค.-ธ.ค.2561, ปีที่ 17 ฉบับที่ 2., น. 79-96.