×

บวชในพระพุทธศาสนากับเสรีภาพทางเพศ แต่ไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนา (1)

25.08.2020
  • LOADING...
บวชในพระพุทธศาสนากับเสรีภาพทางเพศ

HIGHLIGHTS

  • เมื่อกล่าวถึงพระตุ๊ด-เณรแต๋ว ปัญหาที่ถกเถียงกันในสังคมไทยไม่ใช่แค่เรื่องที่จะบอกว่าคนเป็นตุ๊ด-แต๋ว บวชได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ว่าคนในสังคมส่วนใหญ่มักมองเขาไปในแง่ลบเป็นหลักตั้งแต่เริ่มต้น
  • ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงที่ว่าตุ๊ด-แต๋ว บวชพระได้หรือไม่ หรือการนิยามคำว่าบัณเฑาะก์ในทางพระวินัยจะเป็นเช่นไร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสังคมไทยสร้างความเข้าใจและการรับรู้ไปแล้วว่า ‘บัณเฑาะก์ = กะเทย = ลักเพศ’
  • ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าพระตุ๊ด-เณรแต๋ว หรือตุ๊ด-แต๋ว จะบวชได้หรือไม่ได้ตามพระวินัย แต่ปัญหาที่เข้าใจว่า ‘บวชไม่ได้’ นั้นเกิดจากอคติทางเพศในสังคมปัจจุบัน และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของชาวพุทธไทยที่ตีขลุมไปเองของเรื่องเพศในทางศาสนา

​เมื่อกล่าวถึงพระตุ๊ด-เณรแต๋ว ปัญหาที่ถกเถียงกันในสังคมไทยไม่ใช่แค่เรื่องที่จะบอกว่าคนเป็นตุ๊ด-แต๋ว บวชได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ว่าคนในสังคมส่วนใหญ่มักมองเขาไปในแง่ลบเป็นหลักตั้งแต่เริ่มต้น เช่น เป็นพวกบัณเฑาะก์ ลักเพศ วิปริตผิดเพศ มักมากในกามราคะ นิยมความรุนแรง ผิดพระวินัย เป็นกลุ่มที่จะสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการพระสงฆ์ หรือมากกว่านั้นคือมองว่าเป็นตัวเสื่อมของศาสนา เป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม

 

วิธีคิดแบบนี้สังเกตได้จากงานศึกษาเกี่ยวกับบัณเฑาะก์ในพุทธศาสนาไทย อย่างงานศึกษาของพระมหาสักชายในปี 2551 ที่ศึกษาวิเคราะห์เรื่องบัณเฑาะก์ในพระภิกษุ-สามเณรไทยในปัจจุบัน ก็มองว่าพฤติกรรมของบัณเฑาะก์คือสิ่งที่เป็นปัญหาและนำไปสู่การทำผิดพระวินัย หรือการศึกษาของพระมหาอดุลย์ในปี 2549 ศึกษาวิเคราะห์เรื่องบัณเฑาะก์กับการบรรลุธรรม ก็อธิบายว่าการเบี่ยงเบนทางเพศและกามวิตถารเป็นเรื่องอกุศลกรรมและวิบากกรรมในอดีต บุคคลที่เรียกว่า ‘บัณเฑาะก์’ กลายเป็นคนที่น่ารังเกียจทางสังคม และไม่สามารถบวชเรียนเพื่อการบรรลุธรรมได้ โดยมองว่าคนกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่ม ‘อภัพบุคคล’ กล่าวคือเป็นผู้มีระดับสติปัญญาเพียงแค่รับรู้และเข้าใจหลักธรรมในขั้นพื้นฐานเท่านั้นไม่สามารถบรรลุธรรมได้  

 

งานศึกษาทั้งสองนี้ถือได้ว่าวางอยู่บนบรรทัดฐานของสังคมที่มองบัณเฑาะก์นั้นคือกะเทย คือกลุ่มคนที่เป็นภัยต่อสังคม เป็นกลุ่มมักมากในกามราคะ และเป็นตัวเสื่อมของศาสนา ซึ่งแน่นอน บรรทัดฐานนี้ถือเป็นบรรทัดฐานหลักของคนในสังคมไทยใช้มองหรือเข้าใจกลุ่มพระตุ๊ด-เณรแต๋ว หรือกลุ่มตุ๊ด-แต๋ว ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็น ‘ผู้ที่ไม่สมควรที่จะเป็นนักบวชและไม่สามารถบรรลุธรรมได้’

 

บัณเฑาะก์ในสังคมไทย ปัญหาที่มากกว่าตุ๊ด-แต๋ว บวชพระได้หรือไม่

ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงที่ว่าตุ๊ด-แต๋ว บวชพระได้หรือไม่ หรือการนิยามคำว่าบัณเฑาะก์ในทางพระวินัยจะเป็นเช่นไร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสังคมไทยสร้างเข้าใจและการรับรู้ไปแล้วว่า ‘บัณเฑาะก์ = กะเทย = ลักเพศ’ หากดูความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะเห็นความหมายที่สะท้อนภาพความเข้าใจแบบเหมารวมได้เป็นอย่างดี โดยให้ความหมายคำว่า ‘บัณเฑาะก์หมายถึงกะเทย’ หรือให้ความหมายคำว่า ‘ลักเพศ’ ว่าการทำหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่น คฤหัสถ์แต่งตัวปลอมเพศเป็นสมณะ หรือผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง นี่คือความหมายและความเข้าใจหลักของคนในสังคมต่อคำว่าบัณเฑาะก์ ดังนั้นประเด็นเรื่องเพศสภาวะและเพศวิถีของภิกษุ-สามเณร จึงเป็นสิ่งที่สังคมมีคำตอบอยู่แล้วว่าภิกษุ-สามเณร ที่เป็นบัณเฑาะก์คือผู้ที่ไม่สมควรเป็นนักบวช

 

แต่หากกลับไปพิจารณการตีความคำอธิบายในทางศาสนากลับพบว่า บัณเฑาะก์หรือลักเพศที่ห้ามบวชนั้นไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ผู้ที่เป็น ‘กะเทย’ หรือผู้ที่มีรสนิยมทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือชายที่มีอารมณ์ความเป็นหญิง หรือความหมายในเชิงเพศวิถีเท่านั้น

 

หากดูจากคำอธิบายลักษณะของบัณเฑาะก์ที่ห้ามบวชที่อรรถกถาจารย์ได้ตีความเพิ่มเติมหลังยุคพุทธกาลแล้วนั้นจะพบว่า บัณเฑาะก์นั้นมีมากถึง 5 ประเภท คือ 

 

  1. อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยะเพศของชายอื่น 
  2. อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
  3. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที
  4. ปักขบัณเฑาะก์ คือ บัณเฑาะก์ในช่วงข้ามแรม แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น 
  5. นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ คือไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ อรรถกถากล่าวไว้ว่า บัณเฑาะก์ประเภท 1 อาสิตตบัณเฑาะก์ และประเภท 2 อุสุยยบัณเฑาะก์ นั้นสามารถบวชได้ ส่วนประเภทที่ 4 ปักขบัณเฑาะก์นั้นสามารถบวชได้ในวันที่ไม่ได้มีกำหนัด ส่วนบัณเฑาะก์ประเภทที่ไม่สามารถบวชได้คือ ประเภทที่ 3 และ 5 คือบุคคลที่ถูกตอน หรือมีความบกพร่องทางเพศสภาพ 

 

หากจะอธิบายตามความเข้าใจนั้นหมายถึงว่า บุคคลที่ไม่สามารถบวชได้คือบุคคลที่บกพร่องทางร่างกายเป็นหลัก นั่นหมายความว่า อรรถกถาจารย์ไม่ได้นิยามบัณเฑาะก์ที่เรื่องของจิตใจหรือเพศวิถี ส่วนปักขบัณเฑาะก์นั้น ซึ่งกลุ่มนี้หากใช้มุมมองในปัจจุบันอธิบายอาจจะหมายถึงบุคคลที่เป็นโรคทางจิตเภท นั่นหมายความว่า ‘บัณเฑาะก์ไม่เท่ากับกะเทย’ ตามความเข้าใจของคนในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่านั้นที่ควรจะพิจารณาไปอีกระดับหนึ่งคือ ในสังคมปัจจุบันที่ยังตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของรักต่างเพศ (Heteronormativity) โดยเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องเพศสรีระ (Biological Sex) ในแบบคู่ตรงข้ามชายและหญิง ทำให้กะเทยถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ป่วยทางจิตเภท เห็นได้จากข้อยกเว้นการเกณฑ์ทหารหลายครั้ง นี่คืออคติทางสังคมที่ซ้อนทับเข้าไปผนวกในเรื่องบัณเฑาะก์ทางศาสนา

 

ส่วนในพระไตรปิฎกปัณฑกวัตถุในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ที่เล่าว่า “…ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ…” “…ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบันคือบัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย…” โดยเล่าว่า มีบัณเฑาะก์คนหนึ่งบวชแล้วเกิดกามราคะ เลยไปชวนพระสงฆ์กับเณรมีอะไรกัน แต่พระกับเณรปฏิเสธ พระบัณเฑาะก์นั้นจึงไปชวนคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า เมื่อมีอะไรกับคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้าแล้ว เขาก็เลยเอาไปพูดเหมารวมว่า พระสงฆ์ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าเลยให้บัณเฑาะก์รูปนั้นสึก หากพิจารณาให้ชัดเจนนั้นจะเห็นว่า ข้อลงโทษของพระพุทธเจ้ากับภิกษุบัณเฑาะก์รูปนั้นคือโทษเรื่องของการเสพเมถุน การไม่รักษาพรหมจรรย์ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสียชื่อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้หมายถึงการลงโทษพระสงฆ์ที่เป็นบัณเฑาะก์ หรือเป็นข้อบัญญัติเพื่อห้ามบัณเฑาะก์บวช

 

บัณเฑาะก์-ลักเพศ ตัวบทพระวินัยกับความหมายทางโลก

ไม่เพียงแค่บัณเฑาะก์ที่ไม่ได้หมายถึงกะเทยตามแบบที่เข้าใจกันในสังคมปัจจุบันแล้ว ‘ลักเพศ’ ในคำอธิบายทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้หมายถึงกะเทยในความหมายทำนองที่เข้าใจด้วยเช่นกัน ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 มีพุทธบัญญัติขับไล่อนุปสัมบันที่เป็นคนที่เป็น ‘เถยยสังวาสกะ’ ออกไปดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งคำดังกล่าวภาษาไทยแปลว่า ‘ลักเพศ’ แต่คำอธิบายในวินัยไม่ได้หมายถึงลักเพศที่ตรงกับความหมายภาษาไทยที่เราเข้าใจกันว่าหมายถึง กะเทย ผู้ที่เป็นผู้ชายแต่งตัวเป็นหญิง แต่ความหมายของเถยยสังวาสกะหมายถึง 

 

  1. ลักเพศ ที่หมายถึงผู้ที่ปลอมเป็นพระภิกษุ ไม่ได้ผ่านการอุปสมบท แต่บวชเอง แล้วอ้างว่าเป็นพระภิกษุ กล่าวง่ายๆ คือผู้แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ในกฎหมายอาญา
  2. ลักเพศที่หมายถึงคนลักสังวาส คือเป็นเณรหรือพระสงฆ์ที่อ้างพรรษาว่าได้บวชมานานกว่าความจริง เพื่อยินดีกับเกียรติยศและความเคารพนับถือ 
  3. ลักเพศทั้งอ้างว่าเป็นพระภิกษุและมีพรรษาสูงเกินจริง

 

นั่นหมายความว่า คำนิยามในตัวบทพระวินัย บัณเฑาะก์ที่ห้ามบวช ลักเพศ ไม่ได้หมายถึงกะเทย ตุ๊ด แต๋ว ที่มีความหมายในเรื่องเพศวิถี และการลงโทษพระภิกษุบัณเฑาะก์ในพุทธประวัติก็เป็นเรื่องของการเสพเมถุนและการทำให้ศาสนาเสียชื่อเสียง ไม่ได้หมายถึงการลงโทษเพียงเพราะเป็นบัณเฑาะก์ ดังจะเห็นได้ว่าในพุทธประวัติก็มีพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีนามว่า พระวักกลิ เป็นผู้ที่หลงในรูปลักษณ์ของพระพุทธเจ้ามา และมักเกิดความกระวนกระวายใจทุกครั้งหากไม่ได้เจอพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายตีความในลักษณะนี้อาจจะเป็นกลุ่มบัณเฑาะก์ที่หลงรูปความเป็นชายเพศเดียวกัน แต่ก็สามารถบวชและบรรลุธรรมได้เช่นกัน

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว หากดูความหมายของคำว่าบัณเฑาะก์หรือลักเพศ ไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่ากะเทย ตุ๊ด แต๋ว บัณเฑาะก์ แบบที่เข้าใจกันในปัจจุบัน หรือแม้แต่พระบัณเฑาะก์ที่ถูกขับออกจากพุทธศาสนาที่ปรากฏเรื่องราวในพุทธประวัติก็ไม่ได้มีเหตุเพราะว่าพระภิกษุรูปนั้นเป็นบัณเฑาะก์ แต่หมายถึงการกระทำที่ผิดวินัยขึ้นสูงคือ การเสพเมถุนกับเพศเดียวกัน ซึ่งการเสพเมถุนนั้นก็ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ว่าบัณเฑาะก์เท่านั้นที่กระทำ พระภิกษุที่เป็นชายแท้ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน

 

ตุ๊ด-แต๋ว บวชไม่ได้ vs. อคติทางเพศในสังคมไทย

ดังนั้นหากพิจารณาตามนี้ ก็เห็นได้ชัดว่าพระวินัยหรือตัวบทคัมภีร์ไม่ได้มีปัญหากับบัณเฑาะก์ที่หมายถึงกะเทย ตุ๊ด แต๋ว ในความหมายเชิงเพศวิถี นั่นหมายความว่าบัณเฑาะก์ในเชิงเพศวิถีนั้นบวชได้ ถึงแม้การอนุญาตให้บัณเฑาะก์นี้ในพระวินัยจะไม่ได้มีความหมายในเชิงเพศวิถี แต่เป็นกำหนดจากเครื่องเพศที่สมบูรณ์ แต่ในเชิงการตีความคำอธิบายนั้นก็เห็นได้ว่า บัณเฑาะก์ในเชิงเพศวิถีก็ยังสามารถบวชได้เช่นกัน

 

เพราะฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าพระตุ๊ด-เณรแต๋ว หรือตุ๊ด-แต๋ว จะบวชได้หรือไม่ได้ตามพระวินัย แต่ปัญหาที่เข้าใจว่า ‘บวชไม่ได้’ นั้นเกิดจากอคติทางเพศในสังคมปัจจุบันและความเข้าใจที่คาดเคลื่อนของชาวพุทธไทยที่ตีขลุมไปเองของเรื่องเพศในทางศาสนา

 

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาในประเด็นนี้ยังมีอีกมากมาย ซึ่งไม่สามารถอธิบายเนื้อหาจบได้เพียงบทความเดียว ความซับซ้อนของมายาคติในสังคมนั้นมีหลายชั้นที่ซ้อนทับกัน ทั้งเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางโลกที่เป็นปัญหาการทำความเข้าใจเรื่องตุ๊ด-แต๋ว บวช หรือเรื่องพระตุ๊ด-เณรแต๋ว ซึ่งจะขออธิบายเพิ่มเติมในบทความถัดไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • ชานันท์ ยอดหงษ์, เพราะฉันคือ ‘ชายจริง-หญิงแท้’ วาทกรรมที่ทำให้การยอมรับ LGBT ในสังคมเป็นแค่เรื่องปลอมๆ https://thematter.co/thinkers/how-lgbqt-recognition-is-fake/111285
  • นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, เพศและความเป็นชายในพุทธศาสนา กับการควบคุมภิกษุ สามเณร และบัณเฑาะก์, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559) น.3-25.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์, พระตุ๊ด-เณรแต๋ว, มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552.
  • พระมหาสักชาย กนฺตสีโล, การศึกษาวิเคราะห์เรื่อง “บัณเฑาะก์” ในกลุ่มพระภิกษุสามเณรไทยในปัจจุบัน, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2551.
  • พระมหาอดุลย์ ยโสธโร, เรื่องการศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องบัณเฑาะก์กับการบรรลุธรรม, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2549.
  • พระมหาอิสระ ชัยภักดี, ตีความ “บัณเฑาะก์” เป็นกะเทย บวชพระได้ไหม?, มิวเซียมสยามออนไลน์,  https://m.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&CONID=3040&SCID=242
  • วักกลิ ผู้หลงใหลในพระพุทธเจ้า, Goodlife Update,https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/97689.html
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising