เรื่องพระกับเงินซับซ้อนกว่าที่พูดๆ กันอยู่ ผู้เขียนจะพยายามอธิบายให้เคลียร์ทีละเปลาะๆ ประเด็นแรกเลย พระสงฆ์ทุกวันนี้มี ‘สิทธิ’ ในการครอบครองเงินเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เมื่อคนถวายเงิน พระบางรูปอาจจับเงิน บางรูปไม่จับ แต่ถึงไม่จับเงิน ให้โยมอุปัฏฐากหรือไวยาวัจกรรับไว้แทนแล้วนำเงินนั้นไปฝากเข้าบัญชีธนาคารที่เป็นบัญชีส่วนตัวของพระ เงินนั้นก็ตกเป็นสิทธิของพระตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิแบบเดียวกับประชาชนทั่วไป
สิทธิเป็นเจ้าของเงินตามกฎหมายของพระ VS สิทธิตามพุทธานุญาต
ประเด็นคือ สิทธิเป็นเจ้าของเงินตามกฎกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่สิทธิตาม ‘พุทธานุญาต’ เลย เพราะวินัยสงฆ์ที่บัญญัติโดยพุทธะ ห้ามพระรับเงินไว้เป็นของตัวเอง ห้ามยินดีในเงินและการแสวงหาเงิน มีข้อยกเว้นเพียงว่า ถ้าในกรณีที่โยมอยากถวายของที่จำเป็นสำหรับพระต้องใช้สอย แต่เขาไม่สะดวกจะไปหาของนั้นมาถวายได้ด้วยตัวเอง เขาอาจฝากเงินนั้นไว้กับ ‘กัปปิยการก’ คือ โยมอุปัฏฐากที่มีหน้าที่จัดหาของจำเป็นสำหรับถวายพระ เช่นบาตร จีวร อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ และเมื่อโยมอุปัฏฐาก (หรือบางทีเรียก ‘ไวยาวัจกร’) รับเงินนั้นมาแล้ว ก็ต้องนำไปซื้อของตามที่คนบริจาคเงินแสดงเจตจำนงมาถวายพระ ไม่ใช่นำเงินไปเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของพระ เพราะพุทธะไม่อนุญาตให้พระมีสิทธิครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัว
เมื่อสิทธิครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัวตามกฎหมายของพระยุคปัจจุบัน ไม่ได้มาจากพุทธานุญาตก็ย่อมเป็นสิทธิที่ขัดกับพุทธานุญาต
แต่สิทธิที่ขัดกับพุทธานุญาตนี้ได้รับการอธิบายว่า วินัยสงฆ์ที่ห้ามพระรับเงินและครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัวนั้นบัญญัติขึ้นในบริบทสังคมชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ที่เงินยังไม่ใช่ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินชีวิตของผู้คนยุคนั้น แต่ในโลกสมัยใหม่ถ้าไม่มีเงิน การดำเนินชีวิตและการทำกิจกรรมใดๆ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก พระที่ใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ดังนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่พระในฐานะพลเมืองในสังคมสมัยนี้จะมีสิทธิตามกฎหมายในการครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัวเหมือนคนทั่วไป
ทุกวันนี้ไม่ว่าพระจะจับเงินไม่จับเงิน (ให้คนอื่นรับไว้แทน) พระก็รับเงินเป็นสมบัติส่วนตัวทั้งนั้น โดยอ้างสิทธิตามกฎหมายเหมือนคนทั่วไป แต่ปัญหาคือ เมื่อมีกลุ่มสตรีเรียกร้อง ‘สิทธิการบวชภิกษุณี’ โดยอ้างสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน บรรดาพระสงฆ์และชาวพุทธบ้านเราต่างกล่าวอ้างตามๆ กันว่า เราไม่สามารถอ้าง ‘สิทธิ’ หรือ ‘สิทธิสตรี’ ‘สิทธิมนุษยชน’ ตามบรรทัดฐานของโลกสมัยใหม่เพื่อเป็นเหตุผลหรือข้อเรียกร้องให้ ‘ยกเว้น’ ที่จะไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัยบางข้อได้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงคือ พระสงฆ์ปัจจุบันได้อาศัยสิทธิครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัวตามหลักการสมัยใหม่เป็น ‘ข้อยกเว้น’ ที่จะไม่ปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่ห้ามพระรับเงินและครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัวได้ ดังนั้นการหาข้ออ้างมาปฏิเสธสิทธิการบวชภิกษุณีดังกล่าวจึงเป็นเพียงการสร้าง ‘มายาคติ’ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
เงินจากศรัทธา VS เงินจากภาษีโดยรัฐ
ความซับซ้อนของปัญหามากขึ้นไปอีก เมื่อการรับเงินของพระไม่ใช่เพียงการรับเงินจาก ‘ศรัทธา’ ของบุคคลต่างๆ เท่านั้น แต่เป็นการรับเงินจาก ‘ภาษี’ ที่ไม่ได้มาจากศรัทธาของผู้บริจาค ทว่าเป็นเงินที่บังคับเอาโดยกฎหมายของรัฐ
เห็นได้จาก ‘รัฐพุทธศาสนา’ (Buddhist State) ในยุคประเพณีหรือยุคกลางที่พุทธผสมพราหมณ์สถาปนากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัว, สมมติเทพ, เทพอวตาร ในรัฐเช่นนี้กษัตริย์ย่อมเป็นอัครศาสนูปถัมภกที่แต่งตั้งพระให้มีฐานันดรศักดิ์ หรือ ‘ศักดินาพระ’ และบริจาคที่ดิน ข้าทาสบริวารที่เรียกว่า ‘ข้าพระ’ หรือ ‘โยมสงฆ์’ รวมทั้งเบี้ยหวัดเงินเดือน (นิตยภัต) แก่พระวัดต่างๆ ตามลำดับสูง-ต่ำทางสมณศักดิ์
การที่พระรับเงินจากรัฐในยุคดังกล่าวนี้ ถูกอธิบายว่าเป็นการ ‘ฉลองพระราชศรัทธา’ เพราะกษัตริย์ในรัฐพุทธศาสนาคือตัวแทนของมวลพสกนิกรที่พึ่งพระบรมโพธิสมภารในการนำภาษีของมวลพสกนิกรมาบริจาคให้พระสงฆ์ที่มีบทบาทในการจรรโลงศีลธรรมของสังคม คำอธิบายดังกล่าวดูมีเหตุผลในแง่ที่ว่า เมื่อรัฐยุคนั้นเป็นรัฐพุทธศาสนา ก็ย่อมมี ‘ความชอบธรรม’ ตามหลักการของรัฐเช่นนั้นที่ผู้ปกครองจะนำภาษีไปบริจาคให้พระสงฆ์ บำรุงวัด หรือสร้างวัดวาอารามให้อลังการเพื่อเสริมบุญบารมีของชนชั้นปกครองหรือเป็นสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของรัฐ
แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลับไม่ได้ยกเลิกระบบสมณศักดิ์ (ขณะที่ยกเลิกการพระราชทานศักดินาแก่ฆราวาส) นอกจากไม่ยกเลิกระบบสมณศักดิ์แล้ว ยังมีการรับเอาระบบศาสนจักรของรัฐ (มหาเถรสมาคม) ที่กำหนดให้พระสงฆ์มีทั้งยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมายอันเป็น ‘มรดก’ ของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาและรักษาไว้จนกระทั่งปัจจุบัน (มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบปกครองสงฆ์ที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484 แต่เพียงชั่วระยะสั้นๆ ก็ถูกยกเลิกไป)
ปัจจุบัน ภายใต้ระบบปกครองสงฆ์ที่มีศาสนจักรของรัฐหรือมหาเถรสมาคม พระสงฆ์มีทั้งสมณศักดิ์หรือศักดินาพระ มีตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย พระสายปกครองมีเงินรายเดือน (นิตยภัต) และรัฐให้งบประมาณอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาหลักๆ ที่รัฐรับรองอย่างเป็นทางการ
ดังนั้น เงินส่วนตัวของพระสงฆ์ในปัจจุบันจึงมี 3 ส่วน คือ เงินส่วนตัวของพระแต่ละรูปที่คนทั่วไปบริจาคตามศรัทธา เงินนิตยภัตรายเดือนที่รัฐนำภาษีประชาชนมอบให้เป็นเงินส่วนตัวของพระสายปกครองตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงไปถึงเจ้าคณะต่างๆ และเงินที่เกิดจากการทำงานของพระเอง เช่นเขียนหนังสือขาย สอนหนังสือในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ และอื่นๆ
รัฐโลกวิสัย สมณศักดิ์ และการครองครองเงินของพระ
ประเด็นคือ แม้เราจะยอมรับว่าพระสงฆ์ในสังคมสมัยใหม่มี ‘สิทธิ’ ตามกฎหมายในการรับและครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัว แต่เราก็ต้องตระหนักว่าสิทธิดังกล่าวนี้ขัดกับ ‘พุทธานุญาต’ เพราะพุทธะได้บัญญัติวินัยสงฆ์ห้ามไม่ให้พระรับและครอบครองเงินเป็นสมบัติส่วนตัว และเมื่อพระสงฆ์อ้างสิทธิตามกฎหมายเพื่อ ‘ยกเว้น’ ที่จะไม่ปฏิบัติตามวินัยสงฆ์บางข้อด้วยเหตุผลเรื่อง ‘ความจำเป็น’ ในการใช้เงินเพื่อดำรงชีวิตในสังคมสมัยใหม่ แต่คำถามก็คือว่า ‘ขอบเขต’ ของความจำเป็นอยู่ตรงไหน ในเมื่อพระสงฆ์ปัจจุบันมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้เป็นแสน เป็นล้าน เป็นสิบล้าน ร้อยล้านหรือมากกว่าก็ได้ โดย ‘ไม่เสียภาษี’ เลยด้วยซ้ำ
ยิ่งกว่านั้น ประเด็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุด ที่บ้านเราแทบจะไม่ตั้งคำถามและอภิปรายกันให้ ‘เคลียร์’ เลยคือ ประเด็นปัญหา ‘ความชอบธรรม’ ของรัฐประชาธิปไตยในการให้ยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินนิตยภัตรายเดือนแก่พระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอื่นๆ และงบประมาณอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่รัฐรับรอง เรามักอ้างกันว่า หน้าที่เช่นนี้ของรัฐไทยเป็นหน้าที่ที่สืบเนื่องมาในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ความจริงคือ ปัจจุบันรัฐไทยไม่ใช่รัฐพุทธศาสนาแบบยุคราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราจะใช้หน้าที่ของรัฐยุคเก่ามาเป็นบรรทัดฐานให้รัฐยุคปัจจุบันทำตามได้อย่างไร
หลักการของรัฐประชาธิปไตยที่เป็นรัฐโลกวิสัย (Ssecular State) ถือว่ารัฐต้องเป็น กลางทางศาสนา และให้หลักประกันเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา
ในทางปฏิบัติรัฐต้องไม่อุปถัมภ์ ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของศาสนาใดๆ (ยกเว้นกรณีที่บุคคลหรือองค์กรศาสนานั้นๆ ละเมิดกฎหมาย) และศาสนาก็ไม่แทรกแซงกิจการของรัฐ หรือไม่ก้าวก่ายในเรื่องการเมืองการปกครอง ฉะนั้นการที่รัฐไทยยังให้ยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินนิตยภัตรายเดือนแก่พระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอื่นๆ และงบประมาณอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่รัฐรับรอง ย่อมขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวมา เพราะเป็นการเอา ‘อำนาจสาธารณะ’ (กฎหมาย) และนำเงินภาษีของประชาชนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนา ไปสนับสนุนนักบวช ผู้นำศาสนา หรือองค์กรศาสนาต่างๆ ในการปกป้องส่งเสริม ‘ความเชื่อส่วนบุคคล’ หรือความเชื่อเฉพาะของกลุ่มศาสนานั้นๆ
นอกจากจะเป็นปัญหา ‘ความไม่ชอบธรรม’ ตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหา ‘ความไม่ชอบธรรม’ ตามหลักการธรรมวินัยอีกด้วย เพราะแค่พระรับเงินจากศรัทธาของผู้บริจาคเป็นสมบัติส่วนตัวก็ขัดหลักธรรมวินัยแล้ว และนี่ยังมารับเงินที่รัฐบังคับเก็บภาษีจากคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาอีก ก็ยิ่งผิดหลักธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น
สู่ข้อเสนอ และทางออก พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ควรอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเท่านั้น
เพื่อปกป้อง ‘ความชอบธรรม’ ตามหลักการของรัฐประชาธิปไตยและหลักธรรมวินัย รวมทั้งหลักการของ ‘ทุกศาสนา’ ด้วย ทางออกที่แก้ปัญหาระดับรากฐานได้จริงคือ รัฐควรยกเลิกการให้ยศศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย เงินนิตยภัตรายเดือนแก่พระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอื่นๆ และงบประมาณอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่รัฐรับรอง เมื่อยกเลิกได้ ก็ย่อมหมดปัญหาการที่บุคคลหรือองค์กรศาสนาพุทธ และศาสนาอื่นๆ ทุจริตงบประมาณรัฐ
พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา หรือพูดรวมๆ คือ พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ควรอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของบรรดาผู้นับถือพุทธศาสนาและศาสนานั้นๆ เท่านั้น ส่วนการจะบริหารเงินบริจาคเหล่านั้นให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยของพุทธศาสนา หลักศาสนานั้นๆ และถูกกฎหมายอย่างไร (เช่นไม่ผิดกฎหมายทุจริต ฟอกเงิน เป็นต้น) ก็เป็นเรื่องที่องค์กรพุทธกลุ่มต่างๆ สายครูอาจารย์ต่างๆ วัดต่างๆ และองค์กรศาสนาต่างๆ จะตกลงร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกันเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐ
ทางออกนี้ นอกจากตัดปัญหาเรื่องบุคคล องค์กรศาสนาทุจริตงบประมาณรัฐได้แล้ว ยังตัดปัญหาการที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และตัดปัญญาการที่กลุ่มทางศาสนาต่างๆ ใช้อำนาจและงบประมาณรัฐเป็นเครื่องมือในการปกป้อง ส่งเสริมการเผยแพร่ และบังคับปลูกฝังความเชื่อส่วนตัว หรือความเชื่อเฉพาะของกลุ่มศาสนานั้นๆ อีกด้วย
Photo: Pixabay