เข้าสู่รอบที่สอง Ring of Fire ของรายการ Show Me The Money Thailand หลังจากแรปเปอร์นับพันคนจากทั่วประเทศ เดินทางมาแรปแบบไม่มีบีตให้โปรดิวเซอร์ทั้ง 9 คนฟังในรอบ Face to Face เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
วันนี้ THE STANDARD มีโอกาสนั่งคุยกับ อุ๋ย-นที เอกวิจิตร, เอ็ม-กิตติพงษ์ คำศาสตร์ และ โต้ง-สุรนันต์ ชุ่มธาราธร โปรดิวเซอร์ทั้ง 3 คน จากทีม Buddha Bless ที่พักจากการสร้างผลงานของตัวเอง เพื่อมาผนึกกำลังกันค้นหาและผลักดันแรปเปอร์รุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ยืนในวงการต่อไปในอนาคต
เราชวนคุยถึงคุณลักษณะที่พวกเขามองหาจากผู้เข้าแข่งขันนับพันคน ความรู้สึกในฐานะ ‘รุ่นใหญ่’ ที่ต้องมายืนอยู่ท่ามกลางแรปเปอร์รุ่นใหม่ที่พร้อมจะซัดไรม์ใหม่พวกเขาแบบไม่มียั้ง ไปจนถึงการแข่งขันที่จำเป็นในการพัฒนาตัวเองของศิลปิน รวมทั้งการแรป 1 นาทีในรอบ Ring of Fire ที่เข้มข้นกว่าเดิม และย้อนไปถึงวันที่พวกเขายังไม่มีใครรู้จัก และยังต้องรอใครบางคนมามอบ ‘สร้อย’ แห่งโอกาสในชีวิต ก่อนที่พวกเขาจะได้มาเป็นโปรดิวเซอร์และมอบสร้อย Show Me The Money Thailand ให้กับแรปเปอร์คนอื่นๆ ต่อไป
ในฐานะหนึ่งในศิลปินรุ่นใหญ่แห่งวงการฮิปฮอป รู้สึกอย่างไรบ้างเวลาได้ไปยืนอยู่ท่ามกลางแรปเปอร์รุ่นใหม่ๆ นับพันคนในรายการ
โต้ง: โห เรามาไกลว่ะ ไม่เคยมีภาพแบบที่เห็นแรปเปอร์หลักร้อยหลักพันมายืนรวมกันในรายการในหัวเลย ผมเป็นติ่งฮิปฮอปเกาหลีนะ ผมฟัง Tiger JK ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ฟัง Dynamic Duo ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น CB Mass อยู่เลย ก็จะได้เห็นภาพแบบนั้นในรายการ Show Me The Money ของเกาหลีแต่ก็ไม่คิดว่าเมืองไทยจะทำได้ พอรู้ว่าเขาจะทำจริงๆ ก็ เฮ้ย เอาจริงเหรอวะ จะมีแล้วเหรอวะ เพราะเราติดตามข่าวสารวงการแรป วงการฮิปฮอปมาตลอด ก็รู้ว่ามันโตขึ้นมาเยอะมาก และกำลังโตขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้มันเยอะมากจริงๆ
อุ๋ย: ผมเป็นจั๊กกะจี้กับการดูแรปฟรีสไตล์มาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ เพราะไม่ค่อยเจอกับที่คนโฟลว์ ใช้คำสวยๆ คล้องจอง เนื้อหาดีจนทำให้ร้องว้าว และตัวผมเองก็ไม่ได้มาทางฟรีสไตล์ เป็นแนวจด เขียน แล้วเอามาแต่งเพลงมากกว่า เพราะฉะนั้นพอต้องไปอยู่ในรายการที่มีคนมายืนรวมกันแล้วแรปเปล่าๆ แบบไม่มีบีต ผมเลยยังไม่ค่อยอินเท่าไร
พูดตรงๆ ว่าก่อนเริ่มรายการผมยังรู้สึกว่า Show Me The Money Thailand น่าจะเกิดยาก มันจะสนุกเหรอวะ เพราะคนที่ร้องแล้วทำให้เราว้าวได้จริงๆ มีน้อยมาก บอกเลยว่าถ้ารอบ Face to Face ให้ผมคล้องสร้อยเฉพาะคนที่ว้าว ผมคงคล้องแค่ไม่เกิน 5 คน แต่กลายเป็นคล้องกระจาย (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่าพอไม่มีดนตรีมันวัดอะไรไม่ได้มากขนาดนั้น ก็เลยอยากให้โอกาสเขาก่อน เอาแค่ฟังแล้วไม่ขนลุกผมก็ให้แล้ว เดี๋ยวค่อยไปวัดกันใหม่รอบหน้าตอน Ring of Fire ที่ให้เขากลับไปทำการบ้าน มีดนตรี แล้วมาแรปอันนี้ให้ฟัง ถ้าไม่เวิร์กนี้ อันนี้คงไม่เวิร์กจริงๆ แล้ว ผมว่าแบบนี้แฟร์กว่า
เอ็ม: พอผมไปอยู่ในรายการแล้วผมไม่อยากเป็นโปรดิวเซอร์อ่ะ แต่อยากเป็นคนแข่งบ้าง (หัวเราะ) เพราะผมชอบบรรยากาศการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ที่มีคนเยอะๆ แบบนี้ ไอ้นี่ก็เก่ง ไอ้นั่นก็เก่ง ไอ้นี่ถูกชะตา ไอ้นั่นไม่ถูกชะตาเว้ย อยากแข่งกับเขาไปหมด เมื่อก่อนแข่งกันไม่มันขนาดนี้ เดี๋ยวนี้ลองเดินผลีผลามไปในต่างจังหวัดสิ รุ่นเล็กๆ นี่แรปตอกใส่หน้าเราหงายได้เลยนะ มีตัวจี๊ดๆ เยอะมาก
ผมคิดว่าการแข่งขันสำคัญสำหรับศิลปินนะ เพราะมันคือการพัฒนาตัวเอง นอกจากทำให้เราเก่งขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือจะทำให้เราสนุกในการทำงานมากขึ้น หรือสุดท้ายต่อให้ไม่มีใครแข่งด้วยก็ต้องกลับมาแข่งกับตัวเอง สำคัญที่สุดคืออย่าหยุดแข่งขันเท่านั้นเอง
พออยู่ในบรรยากาศรายการแบบที่เอ็มบอก โต้งกับอุ๋ยมีความรู้สึกอยากไปลงแข่งขันแบบนั้นบ้างไหม
โต้ง: ผมไม่กล้านะ ผมพูดอยู่ตลอดว่าเด็กพวกนี้แม่งเก่งกว่ากูหมดเลยอ่ะ นึกภาพถ้าเป็นตัวเองคงหลุดตั้งแต่รอบ Face to Face หรือถ้าเข้าไปได้ก็คงโดนกดเผาในรอบ Ring of Fire ส่วนตัวผมไม่ใช่คนมีความมั่นใจสูงมากขนาดนั้นอยูแล้ว คงโคตรตื่นเต้นแล้วก็ไม่รอดแน่ๆ
อุ๋ย: ของผมถ้าย้อนกลับไปวันที่ผมเริ่มทำเพลงอยู่นะ ผมแข่งแน่นอน เพราะผมเริ่มแข่งตั้งแต่ตอนเริ่มทำวง Buddha Bless ที่ทำด้วยความรู้สึกว่าผมดีกว่าแรปเปอร์คนอื่นๆ ในประเทศนี้ และถ้ามึงคิดว่าดีกว่าเขาจริง มึงก็พิสูจน์สิ ออกอัลบั้มให้ได้ ทำให้ได้รับความนิยม ทำเพลงแบบนั้นออกมาสิ
แต่ถ้าถามในโมเมนต์วันนี้ ผมไม่อยากลงแข่งเลย ไม่ได้กลัวเด็ก หรือกลัวอะไร แต่หนึ่งคือมันไปอยู่ในเกมที่ผมไม่ถนัด อย่างที่บอกด้วยเรื่องการฟรีสไตล์ การไม่มีดนตรี สองผมรู้สึกว่าแรปเปอร์ไม่จำเป็นต้องฟรีสไตล์ก็ได้ แรปเปอร์สำหรับผมคือคนที่เอาความในหัวออกมาเรียบเรียงให้คนฟัง เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องสด ใช้เวลาเรียบเรียงก็ได้ แล้วผมอยู่ในวัยที่เหนื่อยกับการแข่งขันแล้วอะ รู้สึกว่าผมไม่ได้ตื่นเต้นกับการแข่งขัน เพราะผมชอบแข่งขัน ชอบเอาชนะมาจนเอียนแล้ว รู้สึกว่าทำไปเรื่อยๆ ดีกว่า
“เพลงดีไม่จำเป็นต้องฮิต และเพลงฮิตไม่จำเป็นต้องดี” – อุ๋ย Buddha Bless
จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่าเอียนกับการทำเพลงเพื่อแข่งขันกับคนอื่นแล้ว
อุ๋ย: ผมรู้สึกว่าการแข่งขันในโลกของผมที่ผ่านมา มันแข่งว่าเราประสบความสำเร็จในสายตาคนอื่นมากขนาดไหน ทั้งในแง่ยอดขาย ความนิยม ซึ่งของแบบนั้นผมได้เรียนรู้แล้วว่าผมไม่อยากไปแข่งด้วย เพราะไม่ใช่การตัดสินที่แฟร์เท่าไร
การตัดสินสำหรับผม เพลงดีไม่จำเป็นต้องฮิต และเพลงฮิตไม่จำเป็นต้องดี เพราะฉะนั้นต่อให้ผมเชื่อว่าเพลงของผมดี ผมก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าเพลงผมจะฮิตหรือเปล่า ผมคิดว่าต่อให้เพลงผมฮิต แต่ร้องแล้วกระดากปากหน่อยๆ เพราะรู้ว่าทำออกมาให้ป๊อปเพื่อให้ขายได้อย่างเดียว คงไม่ภูมิใจเท่าเพลงนั้นทั้งดีในความคิดของผมและฮิตในเรื่องความนิยมไปด้วย
เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าถ้าจะแข่ง เกมของทุกวันนี้คืออะไรล่ะ แข่งว่าเพลงมันฮิตเหรอ ถ้าแข่งเพราะฮิตผมยอม ขอไม่แข่งด้วย แต่ถ้าแข่งกันทำเพลงดีผมยังพร้อมเสมอ แต่ก็กลับมาที่เรื่องความนิยม มันตัดสินไม่ได้หรอกว่าเพลงดีหรือเพลงไม่ดี เพลงดีของคุณอาจจะห่วยสำหรับผม และเพลงที่ห่วยของผมอาจจะดีสำหรับผมก็ได้ มันไม่มีมาตรฐานตรงนั้นหรอก เพราะฉะนั้นผมไม่เรียกว่าแข่ง เพราะมันแข่งไม่ได้แล้ว
อะไรคือจุดที่ทำให้คนที่ไม่เชื่อด้วยซ้ำว่ารายการนี้จะสนุก ตัดสินใจมาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของรายการ
อุ๋ย: ผมรู้สึกว่าในเมื่อมีคนกล้าเอาเข้ามาทำ ก็อยากรู้ว่าจะทำไปได้ถึงไหน และผมอยากรู้ว่าในวงการแรปเปอร์ จะมีคนที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก่อน แล้วจะทำให้ผมรู้สึกว้าวได้อยู่อีกมากขนาดไหน เรื่องสนุกหรือไม่สนุกมันขึ้นอยู่กับอีกหลายๆ ปัจจัยทั้งการตัดต่อ โปรดักชัน แสง สี เสียง คนที่มาร่วมรายการ อันนั้นเป็นสิ่งนอกเหนือที่เราจะควบคุมได้ เมื่อตัดสินใจเข้ามาแล้วเราก็แค่ทำหน้าที่ในส่วนของเราให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง
ซึ่งหน้าที่ของพวกคุณในการเป็นโปรดิวเซอร์ของ Show Me The Money Thailand คือ
เอ็ม: ผมพยายามหาดาวรุ่งในวงการ ซึ่งจริงๆ ผมก็ตามหามานานแล้วนะ ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแนวทาง มีสไตล์ มีความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่เราชอบ หรือเป็นคนที่มีอะไรบางอย่างที่เพอร์ฟอร์มออกมาแล้วทำให้เรารู้สึกสนใจในตัวเขาได้
อุ๋ย: ผมอยากหาคนที่เขียนเนื้อเพลงแบบสร้างสรรค์ เพราะแรปเปอร์คือคนขายความคิด เมโลดี้อาจไม่ต้องเพราะก็ได้ ถ้าเพราะนั่นคือของแถม แต่ขอให้มีสไตล์ แรปตรงจังหวะ เนื้อหาดี ผมยังให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง คำว่าความสร้างสรรค์ในความหมายนี้คือมีศิลปะในการใช้คำอุปมาอุปไมย ไม่ใช่พูดทื่อๆ ตรงๆ หรือถ้าจะมาแบบนั้น ก็ต้องมีไอเดียในการนำเสนอที่ดึงให้คนฟังเพลงของเราต่อได้ อันนี้คือเรื่องของภาษาล้วนๆ เลยนะ ยังไม่ต้องพูดว่าเนื้อเพลงต้องสร้างสรรค์สังคมอะไร ถ้าได้ตรงนั้นด้วยยิ่งดีเป็นคะแนนบวก แต่ตอนนี้ต่อให้พูดเรื่องไร้สาระหรือด่าคนก็ได้ แต่มึงใช้คำในการด่าได้สร้างสรรค์เหลือเกิน หรือด่าแบบไม่มีคำหยาบเลย ผมอยากหาคนแบบนี้และผลักดันให้เขายึดการเป็นแรปเปอร์เป็นอาชีพให้ได้
โต้ง: ผมอยากช่วยน้องๆ ที่มีฝีมือ มีวิถีของตัวเอง แต่ว่าอาจจะนำเสนอได้ไม่ดีพอ ไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยของ อาจจะไม่ต้องมีชื่อเสียง หรือว่าไม่ต้องเก่งในสายตาคนอื่นหรอก แต่เขาทำให้พวกเรารักได้ แล้วอยากให้เขามีโอกาส มีพื้นที่ยืน มีหนทางที่จะไปสร้างเนื้อสร้างตัวได้จากตรงนี้ ผมจะบอกตลอดว่ามึงจะตกรอบไหนกูไม่รู้นะ แต่มึงเอาให้คนรู้จักมึงนะเว้ย เอาให้คนจำ ให้เขาตามกลับไปฟังเพลงมึงให้ได้นะ
แนวทางในการโปรดิวซ์เพลงให้กับศิลปินในทีม Buddha Bless คืออะไร
โต้ง: กับน้องๆ ทุกคนในทีม เราไม่ได้สอนเขานะ ไม่ได้บอกว่ามึงต้องทำอย่างนู้น อย่างนี้ เราแค่ถ่ายทอดสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือสิ่งที่พวกกูทำ พวกมึงอยากทำด้วยไหม หรืออย่างการโชว์ก็จะบอกว่า ถ้าเป็นกูจะทำแบบนี้นะ แต่ถ้าไม่ทำบอกมาเลย ไม่มีการบังคับ อย่างตอนให้น้องกลับไปเขียนเนื้อเพลงมา เราแทบไม่ได้แก้อะไรเลย แค่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบ เราคิดยังไงกับเพลงนั้น แล้วก็จะย้ำอีกว่า กูแค่คอมเมนต์อย่างเดียว มึงต้องตัดสินใจเองว่าสิ่งที่จะทำคือสิ่งที่อยากถ่ายทอดให้คนดูเขาเห็นแบบนั้นใช่ไหม ถ้ามั่นใจแล้ว เราไม่ห้าม เราเป็นทีมที่ไม่ยุ่งกับการทำงานของน้อง แต่เราจะช่วยเหลือในทุกอย่างที่เขาอยากได้ และควรจะได้
อุ๋ย: เวลาผมวิจารณ์ ผมขอโทษไว้ก่อนเลยนะว่าอย่าเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เพราะเราวิจารณ์ที่งานล้วนๆ ถ้าไม่ฟังเราไม่โกรธ ถ้ายืนยันว่าจะทำแบบเดิม เราก็ยืนยันว่าจะไม่มีอคติใดๆ กับเขาทั้งสิ้น เพราะนั่นคือรสนิยมของผมที่วิจารณ์ผ่านมุมมองคนที่ผ่านวงการมาพอสมควร เชื่อหรือไม่เชื่ออยู่ที่คุณเลย เพราะความคิดของเด็กยุคใหม่ หรือเพลงใหม่ๆ ที่เขาฟัง วิธีการแรปใหม่ๆ ที่เขาฮิต ผมฟังแล้วโคตรเกลียดก็หลายเพลง เพราะฉะนั้นต่อให้ฟังคอมเมนต์แล้วเอาไปปรับตาม สุดท้ายอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายก็ได้นะ (หัวเราะ)
ได้เห็นอะไรจากผู้เข้าแข่งขันเพิ่มมากขึ้นไหม เมื่อรายการเข้าสู่รอบ Ring of Fire ที่แรปแบบมีดนตรี และแสดงทุกอย่างออกมาภายในเวลา 1 นาทีบนเวที
อุ๋ย: ก็เห็นชัดครับว่าใครรอดไม่รอด ตอนรอบ Face to Face ผมคล้องกระจายใช่ไหม พอรอบนี้ผมกดเผากระจายเลย (หัวเราะ) เพราะ 1 นาทีนี้คือ 1 นาทีอันมีค่าของคุณ ถ้าบีตขึ้นมาแล้วยังมาอ้าๆ โย่ๆ รอเวลาไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่ามึงไม่เห็นค่าเวลาทุกๆ วินาทีที่ได้รับ ถ้าช้าก็จะเสียคะแนนก่อน แล้วถ้าสะดุดก็จบเลย เพราะเราให้เวลาแต่งเพลงมาแล้วจากบ้าน จะแก้เนื้อกี่รอบ จะซ้อมร้องกี่รอบก็ได้ นี่มันแค่ 1 นาทีเท่านั้นที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณได้เลยนะ
โต้ง: ก็จะมีหลายคนที่มีข้ออ้างต่างๆ ว่าจะต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ มีอุปสรรคต่างๆ ทำให้ไม่มีเวลา ซึ่งเรามองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ต้องบอกดีกว่า เพราะว่าทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด รอบนี้มันแฟร์เพลย์มากๆ มันคือ 1 นาทีเปลี่ยนชีวิตแบบที่อุ๋ยบอก แล้วถ้าคุณคิดว่ามันไม่ได้สำคัญมากพอที่จะทุ่มลงไปทั้งหมดผมก็ไม่ว่าอะไร คุณไม่ได้ผิด
เอ็ม: ผมยิ่งสนุกและตื่นเต้นเข้าไปใหญ่เลย เวลาแข่งเสร็จผมชอบขึ้นไปยืนอยู่บนเวที เหมือนคนโรคจิตที่อยากสัมผัสความตื่นเต้นตลอดเวลา แล้วจินตนาการว่าถ้าเราขึ้นไปร้อง แล้วมีโปรดิวเซอร์คนหนึ่งกดเผาแล้วเราจะรู้สึกยังไง จะรับมือกับสถานการณ์นั้นยังไง รอบ Ring of Fire นี่ตื่นเต้นขึ้นเยอะเลยสำหรับผม
มีเรื่องไหนบ้างไหมที่รู้สึกเป็นห่วงบรรดาแรปเปอร์หรือศิลปินฮิปฮอปรุ่นใหม่ๆ มากเป็นพิเศษ
โต้ง: สำหรับผมเป็นเรื่องค่านิยมในการใช้ยาเสพติด อาจจะทำเพราะตามแฟชั่น หรือทำด้วยวุฒิภาวะของเขาในตอนนั้น โอเค มันอาจจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลแหละ ที่ใครจะใช้ยาเสพติดหรือนำเสนอเพลงที่เกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดยังไง มันนำเสนอได้ละมั้ง แต่แค่ผมไม่ได้เห็นด้วยเท่านั้นเอง
อุ๋ย: สำหรับผม ‘เป็นห่วง’ กับคำว่า ‘เสือก’ มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ ผมกลัวว่าจะไปล้ำเส้นคำนี้เข้า เพราะฉะนั้นผมคงไม่เตือนหรือต่อว่าใคร แต่ขอพูดในมุมที่เคยผ่านจุดนั้นมาก่อนแล้วกัน ผมก็เป็นเด็กกินเหล้าดูดกัญชามาก่อน พอมาถึงตอนนี้รู้สึกว่าประสบการณ์ชีวิตคนเรามันเรียนจากคนอื่นได้ มันอาจจะไม่ถึงใจเท่าไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ต้นทุนบางอย่างมันอาจจะแพงถึงขนาดที่คุณหันหลังกลับไม่ได้แล้วนะ อาจจะเสียชีวิต ติดคุก ติดตาราง เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเหมือนกัน
แต่พูดตรงๆ อีกว่า ตอนเด็กผมก็มีทัศนคติสะเหล่อๆ หลายอย่างที่เราไม่รู้ตัว พอโตมาย้อนไปมองถึงจะเห็นว่าโคตรสะเหล่อเลย คิดว่าทำแบบนั้นแล้วเท่ แต่ตอนเด็กมันมองไม่ออกไง เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจว่าเด็กเขาก็มองไม่ออกเหมือนกันว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควร เพราะฉะนั้นเตือนได้เท่าที่เตือน เดี๋ยวเขาโตขึ้นมาคงมองกลับไปว่าตลกฉิบหาย ตอนเด็กๆ กูทำไปได้ยังไงวะแบบผมก็ได้
เอ็ม: ผมพูดเรื่องทัศนคติในการวางตัวแล้วกัน มีแรปเปอร์หลายคนเลยนะที่ผมไม่กล้าเดินเข้าไปคุยกับเขา เพราะไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ บางคนดูไม่เฟรนด์ลีเลย ซึ่งผมชอบคนที่เฟรนด์ลีนะ ถึงแม้ว่าเนื้อเพลงหรือการแสดงบนเวทีจะดุดันสักแค่ไหน แต่เมื่อวงการมีกันอยู่แค่นี้ เราก็ไม่ได้อยากเจอคนที่ดึงหน้าใส่เราตลอดเวลา มันอึดอัดเหมือนกันนะ ผมคิดว่ามันควรมีความเฟรนด์ลีให้กัน อย่างน้อยก็ในฐานะเพื่อนที่อยู่ในวงการเดียวกัน
ในรายการพวกคุณคือโปรดิวเซอร์ที่มอบสร้อย Show Me The Money Thailand ที่เป็นเหมือนโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่น มีเหตุการณ์ไหนบ้างในชีวิตจริง ที่รู้สึกว่ามีคนมอบ ‘สร้อย’ แห่งโอกาสเส้นนั้นมาให้พวกคุณ
อุ๋ย: ของผมมี 2 ครั้งใหญ่ๆ คือ ตอนที่พี่เต้ง (เมธี ขวัญบุญจัน a.k.a. Spydamonkee โปรดิวเซอร์และคนทำดนตรีให้กับศิลปินหลายๆ คนในก้านคอคลับ) เริ่มทำดนตรีให้ตอน Buddha Bless กำลังอัลบั้มแรก (อัลบั้ม ไฟเขียว ไฟแดง ปี พ.ศ. 2549) ครั้งที่สองคือตอนที่พี่โจ้ (อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต a.k.a. Joey Boy) เดินออกมาจากห้องประชุมแล้วบอกว่า “เออ เขาให้มึงออกอัลบั้มแล้วนะ”
โต้ง: เออ น่าจะเป็นโมเมนต์นั้นแหละ แต่ผมไม่ได้ออกอาการออกมากนะ แต่ในใจก็แบบ โห เราทำได้แล้วว่ะ
อุ๋ย: ของผมนี่ออกอาการมาก (หัวเราะ) มันคือชีวิตของผมเลยนะ แล้วตอนนี้สร้อยเส้นนั้นก็อยู่กับพวกเรามา 12 ปีแล้ว
เอ็ม: ต้องย้อนไปถึงแม่ของผมนะ ที่เรียกว่าเป็นคนให้โอกาสผมจริงๆ คือผมเข้าสู่วงการฮิปฮอปเพราะเริ่มต้นรู้จักกับเพื่อนๆ ในกลุ่มงานศิลปะกราฟฟิตี้ ซึ่งตอนนั้นแม่ผมไม่ได้เข้าใจกระบวนการเหล่านี้เลย แต่เขาสนับสนุน แล้วบ้านผมไม่ได้รวย แต่มันมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ผมต้องนั่งรถไปหาเพื่อนเพื่อรวมตัวกันพ่นสี สีหนึ่งลังก็หลายร้อยบาท แต่แม่ผมก็ยอม ยอมเข้าใจกระทั่งเวลาที่ผมบอกว่าจะไปเที่ยวในที่ๆ มีฟลอร์ให้เต้น เขาก็ให้ไปเว้ย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นคนที่มอบสร้อยเส้นแรกให้ผมก็คือแม่จริงๆ เพราะมีหลายครอบครัวนะที่แม่เขาไม่ให้โอกาส บางครอบครัวรู้ด้วยนะว่าลูกอยากทำอะไร และทำอะไรอยู่ แต่กลับไม่เชื่อในตัวลูก ส่วนแม่ผมเขาไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรหรอก เขาแค่เชื่อในตัวลูกของเขาเท่านั้นเอง
- Show Me The Money Thailand คือรายการค้นหาสุดยอดแรปสตาร์ ซึ่งเป็นรายการฟอร์แมตออริจินัลจากเกาหลี โดยได้ลิขสิทธิ์จาก CJ E&M บริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในเกาหลีมาตลอด 6 ซีซัน โดยผู้ชนะในรายการจะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท และยังได้รับสิทธิ์ขึ้นโชว์บนเวที Show Me The Money ซีซัน 7 ที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
- นอกจากเพื่อนๆ ในวง Buddha Bless พวกเขายังต้องร่วมมือกับโปรดิวเซอร์อีก 6 คนอย่างทีม SunnyCash ของเดย์ Thaitanium และ เอ้ BOTCASH, ดาจิม-สุวิชชา สุภาวีระ, แจ๊ส สปุ๊กนิค ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก, เป้-บดินทร์ เจริญราษฎร์, ป๊อก-ภัสสรกรณ์ จิราธิวัฒน์
- Show Me The Money Thailand ออกอากาศตอนแรกในวันอังคารที่ 24 เมษายน เวลา 20.30-22.00 น. ทาง True4U ช่อง 24 สามารถรับชมรายการเวอร์ชัน uncensored ได้ที่แอปพลิเคชัน TrueID
- ตอนนี้เข้าสู่รอบที่สองของ Show Me The Money Thailand ที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้กลับไปคิดเนื้อเพลงใหม่ เพื่อออกมาแรปให้เหล่าโปรดิวเซอร์ฟังแบบมีดนตรีกันเต็มๆ โดยมีเวลาให้คนละ 1 นาที โดยโปรดิวเซอร์ที่ไม่พอใจกับการแสดงครั้งนั้นจะมีสิทธิ์กดปุ่ม ‘เผา’ ได้ตลอดเวลา และเมื่อไรที่โปรดิวเซอร์กดเผาครบทั้ง 4 คน โอกาสของผู้เข้าแข่งขันคนนั้นก็จะจบลงแต่เพียงเท่านี้