ในมุมของนักลงทุนหรือคนทั่วๆ ไป เมื่อนึกถึง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ก็มักจะนึกถึงการเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วภายใต้อาณาจักรของ BTS ยังมีธุรกิจอื่นอยู่อีกหลากหลายส่วน
ส่วนแรกที่ทุกคนนึกถึงคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส จริงๆ แล้วอยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่ง BTS ถือหุ้นอยู่ 97.46% แต่นอกจากการให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว BTS ยังได้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟฟ้าเพิ่มเติม
อย่าง บมจ.วีจีไอ (VGI) ถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญของ BTS ในฐานะผู้ให้บริการสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าและบริเวณสถานี และยังได้ขยายการลงทุนไปยังสื่อโฆษณาประเภทอื่นๆ ผ่านการลงทุนในบริษัทอย่าง บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) ด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน BTS ถือหุ้นใน VGI รวมๆ กันอยู่ราว 50% และถือหุ้นใน MACO อีกเกือบ 28% ตามสัดส่วนการถือหุ้น
นอกจากนี้ BTS ยังมีบริษัทย่อยที่ให้บริการในด้านอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า อาทิเช่น บริษัท อาร์บี เซอร์วิสเซส หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘แรบบิท’
เมื่อธุรกิจรถไฟฟ้าและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟฟ้าเริ่มอยู่ตัว BTS เริ่มขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง โดยมี บมจ.ยู ซิตี้ (U) เป็นผู้เล่นหลักในส่วนนี้ด้วยสัดส่วนการลงทุนราว 36% พร้อมๆ กับการจับมือกับพันธมิตรรายอื่นเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า อย่างกรณี ‘บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง’ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บมจ.แสนสิริ (SIRI)
BTS เติบโตจากการเป็นบริษัทระดับหมื่นล้านบาทมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านบาท ด้วยการขยายการลงทุนดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการเติบโตของ BTS จะค่อยๆ หยุดชะงักลง พร้อมกับการที่หุ้น BTS กลายมาเป็นหนึ่งในหุ้นปันผลที่นักลงทุนอาจจะไม่ได้หวังการเติบโตมากนัก
โดยจะเห็นว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา BTS เป็นบริษัทที่มีเงินสดล้นมือ หนึ่งในทางออกของบริษัทคือการนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนใน ‘หุ้น’ ของบริษัทอื่นๆ นับ 10 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพียงการลงทุนเพื่อหวังส่วนต่างกำไร และไม่ได้มีความร่วมมือทางธุรกิจใดๆ มากนัก
ขณะที่มูลค่าการลงทุนส่วนมากก็อยู่เพียงหลักร้อยล้านบาท ส่วนธุรกิจที่ลงทุนก็กระจัดกระจายในหลากหลายธุรกิจ อาทิ โรงแรม (SRIPANWA) รับเหมาก่อสร้าง (STEC) ตกแต่งภายใน (BKD) สินค้าอุปโภคบริโภค (SPI, RS) สื่อ (BEC) ซอฟต์แวร์ (HUMAN, YGG) ไปยันร้านขนมหวาน (AU) เป็นต้น
แต่หลังจากวิกฤตโควิดที่ลากยาวตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปี 2564 ทำให้ธุรกิจหลักอย่างรถไฟฟ้าที่ว่ากันว่ารายได้มั่นคงถึงกับ ‘เซ’ ไปพอสมควร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ BTS เริ่มกลับมาโฟกัสกับการมองหาวิธีที่จะเติบโตให้ได้อีกครั้ง
กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS เคยให้สัมภาษณ์กับบรรดาสื่อมวลชนไว้ว่า วิกฤตครั้งนี้มีโอกาสที่จะทำให้ BTS ต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะกลับมาที่เดิมได้ ทำให้เรากลับมาระดมสมองกันในบริษัทเพื่อหาแนวทางเติบโตให้กับบริษัท ท้ายที่สุดจึงออกมาเป็นกลยุทธ์ 3M คือ Move, Mix และ Match
Move คือส่วนของธุรกิจขนส่งซึ่งมีรถไฟฟ้าเป็นแกนหลัก BTS พยายามสร้างการให้บริการที่เชื่อมต่อกันในทุกๆ รูปแบบ และทำให้บริษัทตัดสินใจลงทุนในเรือด่วนเจ้าพระยาเพิ่มเติมเช่นนกัน
ในส่วนของ Mix เป็นการนำทรัพยากรสำคัญที่เรามีคือ ข้อมูล (Data) ที่เก็บรวบรวมผ่านบริษัทย่อยและพันธมิตร เช่น VGI, Rabbit หรือ Kerry มาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
สำหรับ Match เป็นส่วนของการ ‘แบ่งปัน’ ทรัพยากรและอีโคซิสเต็มของ BTS ให้กับพันธมิตรทั้งในเครือและนอกเครือ โดยมีเป้าหมายเพื่อปลดล็อกการเติบโตของกันและกัน และในส่วนนี้เองเป็นที่มาของการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อลงทุนในกลุ่มธุรกิจของ ‘บมจ.เจ มาร์ท (JMART)’
BTS ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงของ JMART และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ผ่านการถือหุ้นโดยตรงและบริษัทย่อย รวมเป็นเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท
กวินมองว่า การเข้าลงทุนในกลุ่ม JMART ครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็ม BTS ในหลายส่วน โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจ ‘การเงิน’ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง JFin Coin ที่จะเข้ามามีบทบาทในอีโคซิสเต็มของ BTS หรือแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงิน
นอกจากนี้ BTS ยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจของ U จากเดิมที่มีบทบาทเป็นหน่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเข้ามาสู่การเป็นธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์อย่างเต็มตัว
“เราชอบมีพาร์ตเนอร์ที่เก่งในด้านของเขา เรื่องนี้จะช่วยให้ BTS สามารถเริ่มต้นได้แบบก้าวกระโดด (Jump Start) ตั้งแต่แรก” กวินกล่าว
คำถามสำคัญหลังจากนี้คือ เงินหมื่นกว่าล้านบาทนี้จะไหล จะไปอยู่ส่วนไหนบ้าง?
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เล่าว่า เงินส่วนหนึ่งจะลงไปที่ JMT ซึ่งทำธุรกิจบริหารหนี้ภายใต้ JMART ในส่วนนี้เหมือนเป็นการเตรียมตัวเพื่อเข้าซื้อหนี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากกับสถาบันการเงินต่างๆ ส่วนเงินที่เหลือจะไปลงใน SINGER และการคืนหนี้สถาบันการเงินบางส่วน
สิ่งที่สำคัญจากการได้เงินลงทุนจาก BTS ครั้งนี้คือ การปลดล็อกมูลค่าของทั้ง JMT, SINGER และ JMART ด้วยฐานทุนที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เครดิตเรตติ้งดีขึ้น และจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินลดลง
จุดเด่นอย่างหนึ่งของ BTS คือเรื่อง ‘ฐานข้อมูล (Data)’ ของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเห็นว่าธุรกิจหลักของกลุ่ม JMART ทั้งธุรกิจขายมือถือหรือธุรกิจบริหารหนี้ต่างมุ่งไปที่ฐานลูกค้าบุคคลทั่วไปเช่นกัน ในส่วนนี้มีโอกาสที่จะช่วยให้เกิด Synergy ทางธุรกิจในอนาคต
นักวิเคราะห์อัปเดตธุรกิจ BTS
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุถึงความเปลี่ยนแปลงของแต่ละหน่วยธุรกิจของ BTS ว่า ในกลุ่ม Move ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก มีหลายโครงการที่มีความคืบหน้า ได้แก่
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู ก่อสร้างไปแล้ว 81% และ 78% ตามลำดับ คาดจะเปิดให้บริการได้บางส่วนต้นปี 2565 สำหรับสีเหลือง ขณะที่สีชมพูคาดเปิดบริการกลางปี 2565 และจะเปิดทั้งเส้นทางภายในปี 2565 ผู้บริหารคาดว่าในปีแรกจะมีผู้ใช้บริการ 2 แสนคนต่อสายต่อวัน
- โครงการสนามบินอู่ตะเภาได้ส่ง Master Plan ให้ภาครัฐพิจารณา โดยรอการแก้ไขและอนุมัติ
- โครงการมอเตอร์เวย์ 2 เส้น บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร ซึ่งได้เซ็นสัญญาไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับประเด็นของรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียวที่ต้องติดตาม
ในกลุ่ม Mix บริษัทได้ส่ง VGI เข้าถือหุ้น 51% ใน ‘แฟนสลิ้งค์ คอมมูนิเคชั่น’ ซึ่งประกอบธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าจากจีน และเป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง (OEM) ‘Pando Selection’ นอกเหนือจากการที่ VGI จะเข้าถือหุ้นใน JMART สัดส่วน 15% ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 6,257 ล้านบาท
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ