วานนี้ (27 ตุลาคม) ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ได้ร่วมพูดคุยกับแขกรับเชิญ 2 ท่าน ได้แก่ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในหัวข้อ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้อีกยาว?’
วิโรจน์กล่าวว่า ส่วนตัวมีความกังวลในประเด็นนี้มาตั้งแต่ก่อนเริ่มการประชุมสภากรุงเทพมหานครแล้ว อีกทั้งนักนิติศาสตร์หลายท่านมองว่าเรื่องนี้อาจจะไม่อยู่ในอำนาจของสภากรุงเทพมหานครตามข้อบังคับข้อที่ 28 คือห้ามพิจารณาหารือในสิ่งที่ไม่ใช่อำนาจของสภากรุงเทพมหานคร ฉะนั้นถ้าสภา กทม. ไม่มีอำนาจ แล้วพิจารณาในเรื่องนี้ ลงมติ ทำหนังสือความคิดเห็นประกอบไปกับหนังสือความเห็นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนำเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย ถ้าเกิดมีการไปร้องจะทำให้หนังสือความเห็นนั้นสิ้นสภาพไป
จากที่ติดตามบรรยากาศในสภา กทม. ทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จะเห็นว่ายังคงตีอภิปราย และกำลังเสนอทางออกว่า ญัตติดังกล่าวให้เสนอเข้ามาใหม่ไหม ในลักษณะที่เป็นการปรึกษาหารือกัน อันนี้คือทางออกที่ 1 ทางออกที่ 2 กทม. มีคณะกรรมการสามัญอยู่แล้ว ที่ชื่อว่าคณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง ที่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็นำพิจารณาเรื่องนี้เลย แล้วเราก็นำรายงานที่พิจารณาแล้วมาขอความเห็นชอบจากสภา กทม. ถ้าเกิดสภาเห็นชอบมีการแก้ไข ปรับแก้เพิ่มเติมอะไรจนเป็นที่แล้วเสร็จ ก็ส่งรายงานฉบับนั้นให้กับทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือฝ่ายบริหารก็ได้
วิโรจน์กล่าวต่อว่า หลังจบการประชุมจะเห็นว่าประเด็นดังกล่าว ถ้าต้องการหารือก็ควรให้บรรจุวาระเป็นการหารือ แต่ไม่ต้องเสนอเป็นญัตติเข้ามาเพราะจะมีเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งพอเป็นญัตติจะต้องนำมาซึ่งการลงมติ ทั้งนี้ การประชุมร่วมกันของพรรคก้าวไกล เราพร้อมที่จะให้ความเห็นที่จะนำเสนอถึงผู้ว่าฯ กทม. อยู่แล้ว
เหตุการณ์วันประชุมสภา กทม. ส่วนตัวคิดว่าถ้าวิปของสภามีการหารือร่วมกันกับฝ่ายบริหารที่มากขึ้น เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นก็คงไม่เกิดนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วคณะกรรมการจราจรและการขนส่งก็เตรียมข้อคิดเห็นไว้แล้วเหมือนกัน
ส่วนประเด็นหนังสือที่มาจากกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ถึงประธานสภากรุงเทพมหานคร แต่หนังสือมาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วิโรจน์กล่าวว่า วันที่ตนเห็นท่าทีของผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในสภา กทม. ตนชื่นชมและก็ขอบคุณชัชชาติอย่างมาก เพราะท่านทำหนังสือตอบไปได้เลย เป็นอำนาจท่านอยู่แล้ว แต่ว่าท่านเองอยากขอความเห็นจากสภา
วิโรจน์กล่าวว่า ได้คุยกับทีมงานชัชชาติ จากกระแสข่าวที่บอกมีการขัดแย้งกัน ขอยืนยันว่าไม่มี เพราะยังคุยกันอยู่ว่าจะหารือเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกันอย่างไร เพราะในข้อบังคับที่ 28 อาจจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภากรุงเทพมหานคร ส่วนหลังจากนี้ตนมองว่าชัชชาติมีสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่ทำเข้ามาเพื่อรายงานสภา แต่ทำเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน ประกอบด้วย
- การเปิดเผยรายละเอียดสัญญาที่เปิดเผยได้ระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ BTSC เปิดเผยบันทึกการประชุมในส่วนที่เปิดเผยได้ของคณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชุดที่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีรายชื่อในลำดับที่ 11
- เรื่องของแผนการชำระหนี้ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ เพราะในแต่ละปีทางกรุงเทพมหานครต้องการเงินอุดหนุนจากทางสภากรุงเทพมหานคร
- แผนการเปิดประมูลใหม่ เพราะว่า พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนมาตราที่ 49 ระบุว่า ก่อนที่อายุสัมปทานจะหมดลงอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจะทำก่อนหน้านั้นก็ได้ กรุงเทพมหานครสามารถทำแผนการเปิดประมูลใหม่ได้ โดยแผนการเปิดประมูลใหม่จะเห็นตัวเลขงบประมาณการต่างๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งราคากลางที่เหมาะสมได้
วิโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทาง ส.ก. ก้าวไกล ชัชชาติ และตนเอง ไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ กันแน่นอน เพราะยังคงโทรศัพท์หารือซึ่งกันอยู่ ดังนั้นตนคิดว่าเรื่องแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าทำแบบนี้แล้วไม่ได้ ใช่ว่าจะไม่ทำ เพียงว่าจะหารือกัน และแก้ไขให้เร็วที่สุดอย่างไร
ทั้งนี้ ในประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทาง ส.ก. พรรคก้าวไกลกับทีมบริหารของ กทม. มีปัญหาอะไรกันหรือไม่ วิศณุกล่าวว่าส่วนตัวคิดว่าไม่มี ไม่น่าจะมีประเด็นอะไร เพียงแต่เป็นการสื่อสารในเรื่องของระเบียบการประชุมสภาต่อกัน ทางทีมบริหารก็ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้แม่นในส่วนนี้
และในส่วนที่วิโรจน์มีการระบุว่า หนังสือขอความเห็นจากกระทรวงมหาดไทยที่ส่งมาทางผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจที่จะตอบได้เลยนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เนื่องจากรายละเอียดในหนังสือมีการระบุถึงสภากรุงเทพมหานครไว้ด้วย ฉะนั้นฝ่ายบริหารจึงคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องปรึกษาหารือกับทางสภาก่อน จะได้เป็นความเห็นร่วมกัน