บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ใช้พื้นที่จอภาพของรถไฟฟ้าขึ้นข้อความทวงหนี้รัฐบาล โดยระบุว่า
“ตามที่กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างชำระค่าจ้างเดินรถกว่า 10,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลอีก 20,000 ล้านบาท สำหรับการให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร
บริษัทได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถบริการเดินรถให้กับประชาชนได้ แม้จะไม่ได้ชำระค่าจ้าง ทั้งยังจะมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราขอ…กราบวิงวอน ฯพณฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดแก้ไขปัญหานี้ด้วย”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยนำเรื่องเข้าที่ประชุม เพื่อจะขออนุมัติงบประมาณมาชำระหนี้และเพื่อจะดำเนินโครงการต่อ แต่สภา กทม. ไม่เห็นชอบ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอ โดย กทม. ได้เสนอแนะให้แก้ปัญหาโดยการร่วมทุนกับเอกชนแทน ซึ่งยึดตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือนเมษายน 2562
โดยหากไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทคงต้องดูว่าสิทธิตามสัญญาและตามกฎหมายทำอย่างไรได้บ้าง หลังจากที่บริษัทได้ทำหนังสือทวงหนี้ 2-3 ครั้งแล้ว เพราะท้ายที่สุด หากต้องเข้าสู่ชั้นศาล หรือจำเป็นต้องหยุดเดินรถ ประชาชนจะได้รับทราบก่อน
สำหรับประเด็นค่าโดยสารแพง ผู้บริหาร BTS ชี้แจงว่า อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างที่กระทรวงคมนาคมประเมินว่า ราคาสูงสุดที่ 50 บาทต่อเที่ยวก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่การคำนวณดังกล่าวยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายบางส่วนเข้ามา เช่น งานโยธาและงานระบบ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างที่สัมปทานเดิมยังไม่หมด
“ทุกวันนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของ BTS ยังขาดทุนอยู่ราว 5-6 พันล้านบาทต่อปี แม้ว่าค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่ 59 บาท เพราะฉะนั้นค่าโดยสารสูงสุดที่ 50 บาทต่อเที่ยวไม่มีทางเป็นไปได้ และหากพิจารณาเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าค่าโดยสาร BTS แพงกว่า ซึ่งในส่วนนี้ BTS ก็อยากให้ค่าโดยสารถูก แต่ด้วยต้นทุนที่สูง และที่สำคัญคือการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต่างกัน ทำให้ค่าโดยสารต่างกัน” สุรพงษ์กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์