×

BROOK ชี้เหรียญ UST ไม่ใช่ Stablecoin และความเข้าใจผิดเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลาย

19.05.2022
  • LOADING...
เหรียญ UST

วริศ บูลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสินทรัพย์ดิจิทัล บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า การลดลงของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงอย่างมากของ Algorithmic Stable Coin UST และ LUNA Token ซึ่งบริษัทไม่ได้ลงทุนในเหรียญเหล่านี้แต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลทางอ้อมให้ขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงมากขึ้นประมาณ 4 ล้านดอลลาร์ และในระยะสั้นตลาดคงจะได้รับผลกระทบจากกรณีของเหรียญ LUNA และ UST ที่มูลค่าหายไปมหาศาล

 

“ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเหรียญ UST ที่หลายคนบอกว่าเป็น Stablecoin แต่หากเข้าไปอ่านในข้อมูลที่เปิดเผยสาธารณะ จริงๆ แล้วเหรียญ UST ไม่ใช่ Stablecoin แต่เป็นแค่การพยายามทำให้ราคาเท่ากับ 1 ดอลลาร์เท่านั้น” 

 

ถ้าเป็น Stablecoin จริงๆ อย่าง USDC ทุกๆ 1 เหรียญดิจิทัล จะมีสินทรัพย์ค้ำประกันในสัดส่วน 1 ต่อ 1 เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดการขายหรือโจมตีอย่างไร มูลค่าของเหรียญจะยังคง Peg ไว้ที่ 1 ดอลลาร์ แต่กรณีของ UST ไม่ได้ Peg กับ 1 ดอลลาร์ที่เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้นักการเงินที่เข้าใจเรื่องนี้สามารถจู่โจมได้ง่ายมากๆ เพราะเหรียญ UST ไม่ใช่ Stablecoin อย่างที่หลายคนเข้าใจ 

 

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดโอกาสในการทำ Arbitrage สำหรับนักลงทุนที่เข้าใจเรื่องนี้ และส่งผลให้เกิดผลขาดทุนมหาศาล สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นอีกเรื่องคือ Fragmentation ในสภาพคล่องของเหรียญ ซึ่งในหลาย Exchange ของแต่ละประเทศ ในบางช่วงเวลาที่นักลงทุนต้องการจะขาย แต่สภาพคล่องกลับไม่มีเลย เพราะตลาดไม่ได้เชื่อมต่อกับทั่วโลก สิ่งนี้ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพมากๆ ในตลาดคริปโตที่ยังต้องพัฒนาต่อไป” 

 

ทั้งนี้ BROOK รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 41.12 ล้านบาท ลดลง 77% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีกำไรสุทธิ 182.14 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมทำได้ 150.90 ล้านบาท ลดลง 43% จากปีก่อน

 

ส่วนรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 130 ล้านบาท มาจากการขายเหรียญ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 97 ล้านบาท รายได้จากดอกเบี้ยในรูปของเหรียญที่เข้าลงทุน 18 ล้านบาท รายได้จากการขายงานศิลปะ NFT 12 ล้านบาท และรายได้จากการขุดเหรียญ 3 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทบันทึกขาดทุนจากมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลคงเหลือ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการบันทึกบัญชีแบบอนุรักษนิยม (Conservative) กล่าวคือ สำหรับเหรียญที่ปัจจุบันมีมูลค่าต่ำกว่าทุน จะบันทึกเป็นมูลค่าตามราคาตลาด และก่อให้เกิดผลขาดทุน ส่วนเหรียญที่มูลค่าสูงกว่าทุน จะบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นราคาทุนเท่านั้น โดยจะไม่มีการบันทึกผลกำไรใดๆ ที่งบกำไรขาดทุน 

 

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทมีสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล 1,056 ล้านบาท ขณะที่มูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 1,164 ล้านบาท 

 

ส่วนการลงทุนเกี่ยวกับการขุดเหรียญ ปัจจุบันยังเป็นเพียงการทดลองเท่านั้น โดยใช้งบลงทุนไม่เกิน 70 ล้านบาท โดยการลงทุนเครื่องขุดเหรียญเป็นลักษณะ Pilot Project ประเภท Research and Development โดยบริษัทไม่มีนโยบายที่จะประกอบธุรกิจขุดเหรียญ 

 

วริศกล่าวต่อว่า การเริ่มทำโปรเจ็กต์ NFT แรก ชื่อว่า Brooklingz by Brook ซึ่งเป็นชุดสะสมในรูปแบบ NFT แรกของบริษัทจดทะเบียนในไทย ซึ่งนำออกไปขายทั่วโลก และได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะออกชุดสะสมย่อย ชุดที่ 2 และ 3 ตามมา 

 

ในส่วนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยภาพรวม การตีมูลค่าทำได้ยากมากในช่วงแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ใช้งานกำลังเติบโต ขณะที่บริษัทต่างๆ มักจะยังขาดทุนอยู่ และนำมาสู่ความเห็นในการประเมินที่แตกต่างกัน

 

อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นการพูดถึงที่มากขึ้น การเปิดรับ รวมถึงการนำมาใช้จริงที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนตัวยังไม่ได้เป็นห่วงในระยะกลางหรือระยะยาว

 

สำหรับการติดตามพอร์ตลงทุนของ BROOK ภายหลังการเข้าลงทุนจะอยู่ในรูปแบบการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด (Closely Monitoring) หากปรากฏว่ามีข้อมูลข่าวสารที่ทางแผนกการลงทุนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นปัจจัยที่มีความเป็นวิกฤต (Critical Point) หากการขยับของราคาเหรียญและปริมาณซื้อขายมีความผิดปกติเป็นอย่างมาก ทางแผนกการลงทุนก็จะใช้ดุลยพินิจในการขอเรียกประชุมคณะกรรมการการลงทุน เพื่อรายงานสถานการณ์และข้อมูล เพื่อให้ความเข้าใจเพิ่มเติมถึงความผันผวนว่าสามารถเกิดจากอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทางคณะกรรมการการลงทุนได้ดำเนินการตัดสินใจต่อไปว่าควรจะทำอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X