×

สรุปวิกฤตการเมืองอังกฤษ สมาชิก ครม. แห่ลาออก กดดัน ‘บอริส จอห์นสัน’ สละเก้าอี้นายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
07.07.2022
  • LOADING...
วิกฤตการเมืองอังกฤษ

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร กำลังเผชิญวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รับตำแหน่ง หลังบรรดาเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของเขาหลายสิบคน ซึ่งรวมถึงสองรัฐมนตรีที่อาวุโสที่สุดต่างประกาศลาออก เพราะหมดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของจอห์นสัน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการจัดการกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการประพฤติผิดทางเพศของรองประธานวิปรัฐบาล ที่จอห์นสันแต่งตั้งขึ้น

 

ที่ผ่านมาจอห์นสันเผชิญมรสุมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตที่ใหญ่และยากแก่การแก้ไข

 

ซึ่งคำถามสำคัญที่หลายฝ่ายพยายามกดดันจอห์นสัน คือเขาจะยอมลาออกหรือไม่?

 

และนี่คือสรุปประเด็นร้อนล่าสุด ที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้นำแห่งสหราชอาณาจักร

 

ชนวนวิกฤตที่ทำให้รัฐมนตรี-เจ้าหน้าที่รัฐบาลลาออก

 

  • สาเหตุที่แท้จริงของวิกฤตนี้ คือผลพวงจากการลาออกของ คริส พินเชอร์ ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่จอห์นสันแต่งตั้งให้เป็นรองประธานวิปรัฐบาล ซึ่งเป็นบทบาทที่คอยดูแลเกี่ยวกับวินัยของ ส.ส. ในพรรค 

 

  • โดยพินเชอร์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังมีข้อกล่าวหาว่าเขาประพฤติผิดทางเพศ จากการลวนลามแขกสองคนในงานเลี้ยงอาหารค่ำส่วนตัวในคืนก่อนหน้า อีกทั้งยังเคยถูกกล่าวหาเกี่ยวกับพฤติกรรมอื้อฉาวของเขามาแล้วหลายครั้ง

 

  • สิ่งที่ทำให้จอห์นสันประสบปัญหามากขึ้น คือการบิดเบือนข้อมูลหลายอย่างของเจ้าหน้าที่ด้านสื่อมวลชนของทำเนียบนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิง ที่พยายามอธิบายว่า ทำไมพินเชอร์ถึงได้เข้าร่วมในรัฐบาลของจอห์นสันตั้งแต่แรก

 

  • ในตอนแรกที่รายงานเกี่ยวกับประวัติพฤติกรรมฉาวของพินเชอร์ ปรากฏขึ้น หลังจากที่เขายื่นลาออกจากตำแหน่ง ทางทำเนียบดาวนิงปฏิเสธว่านายกรัฐมนตรีจอห์นสันไม่ทราบเรื่องข้อกล่าวหาพฤติกรรมดังกล่าวของพินเชอร์ ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านยุโรปและอเมริกา โดยได้รับการแต่งตั้งจากจอห์นสัน

 

  • แต่เมื่อเห็นว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่สามารถรับมืออยู่ ทางทีมโฆษกของจอห์นสันกลับออกมายอมรับว่า นายกรัฐมนตรีรับรู้เรื่องประวัติพฤติกรรมของพินเชอร์ แต่พวกเขาได้ ‘แก้ไข’ ในเรื่องนั้นแล้ว และข้อกล่าวหาต่างๆ ถูกยุติหรือไม่คืบหน้าไปสู่การร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งการแก้ไขในเรื่องอื้อฉาวดังกล่าว ทำให้จอห์นสันถูกมองว่าปกป้องหรือสนับสนุนพินเชอร์

 

  • ประเด็นร้อนผุดขึ้นในเช้าวันอังคาร (5 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา หลัง ไซมอน แมคโดนัลด์ อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เปิดเผยในจดหมายยืนยันว่า จอห์นสันได้รับฟังการสรุปด้วยตนเอง เกี่ยวกับผลสอบสวนข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมของพินเชอร์ในปี 2019 โดยผลการสอบสวนสนับสนุนในข้อร้องเรียน และพินเชอร์ก็ขอโทษต่อพฤติกรรมของตน

 

  • สิ่งที่ตามมาจากสิ่งอื้อฉาวเรื่องนี้ คือกระแสการลาออกของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล โดยเฉพาะการลาออกของ ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ริชิ ซูนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ส่งจดหมายลาออกโดยให้เหตุผลว่า สูญเสียความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของจอห์นสัน ที่ตัดสินใจผิดพลาดในหลายเรื่อง

 

  • ซึ่งแม้ว่าทั้งสองรัฐมนตรีอาวุโสจะยืนยันว่าไม่มีการร่วมมือกัน แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนอย่างยิ่งถึงอนาคตของจอห์นสัน ทั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

 

  • ขณะที่รัฐมนตรีอีกหลายคนก็ทยอยประกาศลาออกจากผลของเรื่องนี้ เช่น วิลล์ ควินซ์ รัฐมนตรีด้านเด็ก, โรบิน วอล์กเกอร์ รัฐมนตรีด้านมาตรฐานโรงเรียน, วิกตอเรีย แอดคินส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม 

 

  • โดย ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีเคหะและชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วย ไซมอน ฮาร์ท รัฐมนตรีกระทรวงกิจการเวลส์ ได้บอกกับจอห์นสันให้ยอมลงจากตำแหน่ง

 

  • ซึ่งแม้แต่ นัดฮิม ซาฮาวี ผู้ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแทนซูนัคที่ลาออกไป ก็มีรายงานว่าเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนที่จะเข้าพบกับจอห์นสัน เพื่อบอกให้เขาลงจากตำแหน่งเช่นกัน

 

  • ทั้งนี้ จนถึงเกือบเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย รายงานของสำนักข่าว BBC ระบุว่า มีรัฐมนตรีและผู้ช่วยลาออกไปแล้วอย่างน้อย 41 คน ขณะที่สมาชิกคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง พยายามส่งสัญญาณกดดันให้จอห์นสันลาออกจากตำแหน่ง

 

  • อย่างไรก็ตาม ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาเมื่อวานนี้ (6 กรกฎาคม) จอห์นสันประกาศว่า “เขาจะไม่ลาออก” และจะเดินหน้าทำงานต่อไป

 

  • “หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลังจากที่คุณได้รับมอบอำนาจอันยิ่งใหญ่ คือการก้าวเดินต่อไป และนั่นคือสิ่งที่ผมจะทำ” จอห์นสันกล่าว พร้อมทั้งชี้ว่าคงไม่ใช่เรื่องถูกต้องหากเขาจะเดินออกไปในตอนนี้ ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสงครามในยูเครน

 

“ผมจะไม่ลาออก และสิ่งสุดท้ายที่ประเทศนี้ต้องการคือการเลือกตั้ง” 

 

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

 

  • จอห์นสันจะยังคงกุมชะตากรรมของตัวเอง…ในตอนนี้

 

  • กฎของพรรคคอนเซอร์เวทีฟกำหนดว่า หากผู้นำชนะในการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ เขาจะรอดพ้นจากความท้าทายอื่นๆ ต่อไปอีก 12 เดือน ซึ่งจอห์นสันรอดพ้นจากการโหวตไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

  • อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ในตอนนี้ร้าวลึกถึงขนาดที่คณะกรรมาธิการ 1922 (1922 Committee) ซึ่งดูแลปัญหาความเป็นผู้นำของพรรคคอนเซอร์เวทีฟอาจเขียนกฎระเบียบใหม่เพื่อกำจัดจอห์นสันจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

  • โดยคณะกรรมาธิการได้ประชุมกันเมื่อวานนี้ (6 กรกฎาคม) และตัดสินใจว่า จะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าคณะกรรมาธิการคนใหม่ในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม ซึ่งเมื่อได้รับเลือกแล้ว หัวหน้าคณะกรรมาธิการคนใหม่จะตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนกฎระเบียบ และก้าวไปข้างหน้าด้วยการเปิดโหวตไม่ไว้วางใจอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งหากมีการโหวต แน่นอนว่ารอบนี้จอห์นสันมีแนวโน้มที่จะแพ้ค่อนข้างสูง

 

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ หากจอห์นสันลาออก

 

  • ในสหราชอาณาจักร การลาออกของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ทำให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปโดยอัตโนมัติ

 

  • หากจอห์นสันลาออกจากตำแหน่ง พรรคคอนเซอร์เวทีฟจะจัดการเลือกตั้งภายในเพื่อเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

 

  • จอห์นสันอาจจะดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาจะได้รับเลือก เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ทั้ง เทเรซา เมย์ และ เดวิด คาเมรอน

 

  • ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาแทนจอห์นสันไม่มีการลาออก หรือประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งล่วงหน้า เขาก็จะดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปตามกำหนดการในปี 2024

 

ภาพ: Photo by Stuart Brock / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising