กรมอนามัยและบริการสังคมของสหราชอาณาจักร เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยด้านโควิด-19 ชื่อว่า REACT-2 ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้การสนับสนุน พบว่าประชาชนในอังกฤษมากกว่า 2 ล้านคน เผชิญอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว ที่เรียกว่าภาวะ Long Covid อย่างน้อย 12 สัปดาห์
งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในงานวิจัยด้านโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนสูงถึง 50 ล้านปอนด์ โดยอ้างอิงข้อมูลสำรวจจากประชาชนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 508,707 คน ช่วงระหว่างเดือนกันยายน ปี 2020 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งใช้วิธีสุ่มสอบถามเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงสอบถามลักษณะและระยะเวลาในการเกิดอาการป่วยจากโควิด-19 ซึ่งพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่เข้าร่วมสำรวจเคยมีอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และมีอาการป่วยที่แตกต่างกันถึง 29 อาการ
ซึ่งข้อมูลสำคัญที่พบจากงานวิจัยนี้ได้แก่
- 37.7% มีอาการป่วยที่ยืดเยื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ หรือมากกว่า
- 14.8% มีอาการป่วยมากกว่า 3 อาการ ระยะเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์
- ปัญหาอาการป่วยโควิด-19 ระยะยาว พบมากกว่าในผู้หญิง
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีน้ำหนักมาก สูบบุหรี่ และมีอาการป่วยเรื้อรัง มีโอกาสสูงกว่าที่จะประสบภาวะอาการป่วยระยะยาว
- อาการเหนื่อยล้าเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และในผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนัก จะพบอาการหายใจถี่ เป็นอาการในระยะยาว
สำหรับภาวะ Long Covid นั้นเป็นปรากฏการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างชัดเจน และยังไม่มีคำนิยามเฉพาะสำหรับลักษณะอาการป่วยยืดเยื้อที่เกิดขึ้น
ซึ่งอาการป่วยโควิด-19 ระยะยาวนั้นมีหลากหลาย ทั้งการอ่อนเพลีย ไอ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ
“ขนาดของปัญหานั้นค่อนข้างน่าตกใจ ผลวิจัยไม่สามารถบอกเราได้อย่างชัดเจนว่าอาการเหล่านั้นร้ายแรงอย่างไร ในแง่ของผลกระทบที่มีต่อชีวิตของผู้ป่วย บางคนอาจจะอาการไม่ร้ายแรงมาก แต่บางคนก็อาการหนัก ซึ่งผลวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ตลอดจนการให้การรักษาที่เหมาะสม และการสนับสนุนด้านบริการแก่ผู้คนที่เกี่ยวข้องนั้นมีความสำคัญเพียงใด” เควิน แมคคอนเวย์ ศาสตราจารย์ด้านสถิติประยุกต์ของมหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร (Open University) กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่ข้อมูลวิจัยนี้ทางเว็บไซต์ ขณะที่งานวิจัยยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือ Peer Review ซึ่งนักวิจัยยอมรับว่า ยังไม่ได้เปรียบเทียบข้อมูลสำรวจกับผู้ที่ไม่มีอาการป่วยโควิด-19 ซึ่งอาจเกิดอาการในลักษณะเดียวกันได้จากการป่วยด้วยโรคอื่น และไม่มีมาตรฐานในการกำหนดนิยามขอบเขตและความรุนแรงของอาการป่วย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพ: Photo by Jane Barlow/PA Images via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: