×

แบ่งเวลา ‘เล่นนอกบ้านวันละ 1 ชั่วโมง’ แนวคิดสร้างเด็กเก่งแบบชาวฟินแลนด์ที่เชื่อว่าตำราเรียนที่ดีคือการ ‘เรียนรู้นอกบ้าน’ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
06.08.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • กระทรวงศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ให้ความสำคัญอย่างมากกับ ‘การเรียนรู้ผ่านการเล่น’ เชื่อว่าการให้เด็กได้พักจากการเรียนก็เพื่อให้สมองได้พักผ่อนเต็มที่ ถ้าคุณไม่หยุดใช้สมองเลย สมองจะหยุดการเรียนรู้ 
  • ดร.พาซี ซาห์ลเบิร์ก หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาการศึกษาของฟินแลนด์ กล่าวว่า “ทักษะต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การจดจ่อต่อสิ่งที่สนใจ หรือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ก็เริ่มต้นมาจากการเล่นนอกห้องเรียนทั้งสิ้น ไม่มีเนื้อหาในหนังสือเล่มไหนที่ให้บทเรียนเหล่านี้ได้” 
  • พ่อแม่คือผู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กสร้างทักษะชีวิต ‘นอกห้องเรียน’ ได้ทุกวัน ด้วยการพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้านแค่วันละ 1 ชั่วโมง

 

 

เป็นความย้อนแย้งที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกแล้วว่า “จำนวนชั่วโมงเรียนที่เยอะ ปริมาณการบ้านที่มาก หลักสูตรการสอนที่เข้มข้น หรือการสอบวัดผลทุกปลายภาค ไม่ได้ช่วยให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น

 

ในทางกลับกันเมื่อลดปริมาณทุกอย่างลง และเพิ่มชั่วโมง ‘การเล่น’ ให้มากขึ้นกลับสร้าง ‘เด็กนักเรียนที่ดีที่สุดในโลก’ ได้

บทพิสูจน์ของเรื่องนี้มันอยู่ที่ข้อมูลโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ที่ให้เด็กอายุ 15 ปี สุ่มเลือกจากหลากหลายประเทศ สอบวัดผลด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ผลปรากฏว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กฟินแลนด์ดีกว่าเด็กจากประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และจีน เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน

ทั้งๆ ที่ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีชั่วโมงเรียนต่อวันน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีการเรียนการสอนด้านวิชาการเข้มข้น ที่สำคัญเวลาเรียนในแต่ละวิชาก็แค่ 45 นาที แถมยังได้พักเบรก 15 นาที เพื่อให้เด็กออกไปวิ่งเล่น แต่ทำไมเด็กฟินแลนด์ถึงมีสติปัญญาดีกว่าเด็กชาติอื่นๆ

‘เล่น’ มากกว่า ‘เรียน’ ช่วยให้เด็กมีสติปัญญาดีขึ้นได้จริงหรือ?
เริ่มกันตั้งแต่หลักสูตรในกระทรวงศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับ ‘การเรียนรู้ผ่านการเล่น’ และการใช้ ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ เด็กได้รับอนุญาตให้เล่นนอกห้องเรียนระหว่างคาบเรียน เพื่อส่งเสริมให้มีจินตนาการและทักษะในการทำงานเป็นทีม แต่ผลลัพธ์ที่เหนือชั้นไปกว่านั้นคือ การให้เด็กได้พักจากการเรียนก็เพื่อให้สมองได้พักผ่อนเต็มที่ ถ้าคุณไม่หยุดใช้สมองเลย สมองจะหยุดการเรียนรู้

หลักการเหมือนกับ Pomodoro Technique เทคนิคการจัดการเวลาที่คิดค้นโดย Francesco Cirillo ชาวอิตาลี เชื่อมโยงมาจากหลักการทำงานของสมองที่จะมีสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน ถ้าอยากให้สมองทำงานได้ดีขึ้นต้องแบ่งเวลาให้สมองได้พัก หลังจากนั้นสมองจะทำงานดีขึ้นและช่วยให้คุณจัดเรียงข้อมูลที่ได้รับเข้ามาใหม่ๆ ได้ดีขึ้น

พ่อแม่อาจนำเทคนิคง่ายๆ นี้มาปรับใช้กับกิจวัตรประจำวันของเด็ก อย่างเรื่องการทำการบ้าน ลองให้ลูกมีส่วนร่วมออกแบบตารางเวลาและกิจกรรมที่เขาต้องการทำระหว่างพัก เช่น ทำการบ้านวิชาเลข 45 นาที และเขาให้พักเบรกสั้นๆ 15 นาที จากนั้นทำการบ้านวิชาอื่นต่ออีก 45 นาที และพักเบรกอีก 15 นาที สิ่งสำคัญคือ เมื่อทำครบ 4 รอบ ให้พักยาว 1 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้ออกไปเล่นนอกบ้าน วิธีนี้จะช่วยให้สมองได้ทำการย่อยข้อมูลที่รับเข้ามาดีขึ้น

*** การแบ่งเวลาขึ้นอยู่กับกิจกรรม อาจจะทำ 30 นาที พัก 10 นาทีก็ได้ ***  

 

 

การปล่อยให้เด็กออกไปวิ่งเล่นนอกห้องเรียน จะสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร?
จากหนังสือ Last Child in the Wood ของ ริชาร์ด ลูฟ ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2008 กล่าวว่า “งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การใช้เวลาในธรรมชาติผ่านการเล่นนอกบ้านช่วยให้เด็กจำนวนมากเรียนรู้ที่จะสร้างความมั่นใจในตนเอง โดยช่วยลดอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ทำให้เด็กสงบลงและช่วยให้มีสมาธิจดจ่อ” เขายังกล่าวชื่นชมระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นฐาน ด้วยการย้ายเอาประสบการณ์ในห้องเรียนจำนวนมากออกไปอยู่ในสถานที่ทางธรรมชาติหรือชุมชนรอบๆ โรงเรียน

เมื่อเด็กมีความสุขมากขึ้น ก็เกิดการเรียนรู้มากขึ้นตามไปด้วย นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของระบบการศึกษาที่หลายประเทศกำลังหาทางแก้อยู่ก็เป็นได้

ตอนหนึ่งในสารคดีชุด Where to Invade Next ที่เขียนบทและดำเนินรายการโดย Michael Moore พาไปค้นหาความจริงที่ว่า ทำไมระบบการศึกษาของฟินแลนด์ถึงดีที่สุดในโลก Michael Moore ก็สงสัยไม่ต่างจากนักการศึกษาทั่วโลก “การปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นเด็กจะเรียนรู้ได้อย่างไร?” ครูชาวฟินแลนด์อธิบายว่า การให้เด็กออกไปปีนต้นไม้ เขาก็จะได้เรียนรู้วิธีการปีนและเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้หล่นลงมาบาดเจ็บ ระหว่างนั้นเขาอาจเจอแมลงหน้าตาแปลกๆ เมื่อเด็กอยากรู้ก็ถามครู นั่นคือการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ในวิถีของชาวฟินแลนด์

โรงเรียนที่ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการเล่นขนาดที่ว่า ถ้าจะปรับปรุงสนามเด็กเล่น เด็กต้องเป็นศูนย์กลาง สนามเด็กเล่นแบบไหนที่เด็กต้องการ พวกเขาชอบเล่นอะไร และสนามเด็กเล่นนั้นต้องตอบโจทย์พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งที่โรงเรียนทำคือ เชิญสถาปนิกมาคุยกับเด็กเพื่อให้ได้สนามเด็กเล่นที่เด็กต้องการจริงๆ 

ครูชาวฟินแลนด์เชื่อว่าโรงเรียนควรเป็นสถานที่ค้นหาความสุข ค้นหาทางเรียนรู้สิ่งที่เรารัก และเด็กก็ควรจะได้มีเวลาเป็นเด็ก เรียนรู้การเข้าสังคมด้วยการเล่นกับเพื่อน เรียนรู้การแบ่งปัน ความเสมอภาคจากการเล่นกีฬา โดยมากการเรียนรู้ที่ว่ามาเกิดขึ้นนอกห้องเรียนไม่ใช่ในตำราเรียน

ดร.พาซี ซาห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาการศึกษาของฟินแลนด์ อดีตอธิบดีกระทรวงศึกษาธิการประเทศฟินแลนด์ ผู้เขียนหนังสือ Finnish Lessons 2.0 เพิ่งเขียนหนังสือเล่มล่าสุด Let the Children Play: Why More Play Will Save Our Schools and Help Children Thrive ที่เขียนคู่กับ William Doyle ขยายความจริงที่ว่า “การเล่นจะช่วยให้เด็กได้ค้นพบองค์ประกอบพื้นฐานของการเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ด้วยตนเอง ทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว การเข้าสังคม ทักษะต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การจดจ่อต่อสิ่งที่สนใจ หรือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ก็เริ่มต้นมาจากการเล่นนอกห้องเรียนทั้งสิ้น ไม่มีเนื้อหาในหนังสือเล่มไหนที่ให้บทเรียนเหล่านี้ได้  

 

 

ในประเทศไทยเองก็มีโรงเรียนหลายแห่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น โครงการ ‘บรีสเปิดประสบการณ์ เรียนรู้ เล่น เลอะ นอกห้องเรียน’ โรงเรียนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการพร้อมใจกันคิดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยแนวความคิด เรียนรู้ เล่นเลอะ นอกห้องเรียน แบบสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนทั้งทาง ร่างกายและจิตใจ อาทิ โรงเรียนอนุบาลยะรัง จังหวัดปัตตานี ให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น เดินป่า ฝึกแก้ปัญหาในฐานต่างๆ ในการเข้าค่ายลูกเสือเนตรนารี และโรงเรียนบ้านลานแหลม จังหวัดนครปฐม สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียนให้เด็กเรียนรู้ระบบนิเวศผ่านการลงมือทำตั้งแต่ทำปุ๋ยชีวภาพจนถึงปลูกข้าวด้วยตัวเอง  

 

 

บทเรียนจากระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่นำมาใช้ได้ง่ายและเร็วที่สุด
ถ้าระบบการศึกษาของประเทศชั้นนำทั่วโลกยังเปลี่ยนแปลง ระบบการศึกษาไทยก็เริ่มปรับวิธีสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน แล้วคนที่ใกล้ตัวเด็กที่สุดอย่างพ่อแม่ พร้อมจะมอบเวลา 1 ชั่วโมง ให้ลูกของคุณได้ปลดปล่อยศักยภาพผ่านการเล่นนอกบ้านแล้วหรือยัง?

เพราะคนที่จะนำบทเรียนของฟินแลนด์มาปรับใช้ได้เร็วที่สุด ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทางการศึกษา แต่คือพ่อแม่ ‘ครูคนแรกของลูก’ ต่างหาก การสวมบทบาทครูทำได้ตั้งแต่การ ‘ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้โลกภายนอกด้วยตัวเอง’ อาจจะเริ่มที่สนามหญ้าหน้าบ้าน สวนสาธารณะในหมู่บ้าน หรือลานกิจกรรมของชุมชน แค่วันละ 1 ชั่วโมง พาลูก ‘ก้าวเท้า’ ออกมาเรียนรู้นอกบ้าน เพื่อนำไปสู่ก้าวที่สำคัญต่อไปในอนาคตของชีวิต

ปล่อยให้ลูกได้สำรวจโลกที่กว้างกว่าแค่ในตำราและห้องเรียน ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ใช้จินตนาการได้เต็มที่ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องปล่อยให้ลูกได้ล้มและลุกเอง ปล่อยให้เขาได้เลอะ เพราะเล่นเยอะก็ต้องเลอะเยอะเป็นธรรมดา แต่ยิ่งกล้าเลอะ ก็ยิ่งเยอะประสบการณ์ ก็เหมือนแนวคิดของบรีสที่สนับสนุนให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้าน เพราะเชื่อว่าการเล่นนอกบ้านจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ เป็นการสร้างทักษะชีวิต ผ่านแนวคิด ‘เรียนรู้นอกห้องเรียน’ ที่สร้างได้ทุกวัน 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • หนังสือ ‘สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์’ สำนักพิมพ์ Bookscape 
  • ตอนหนึ่งของสารคดีชุด Where to Invade Next โดย Michael Moore
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X