×

BREAKING : ศาลพิพากษาคดี กปปส. สุเทพ-ถาวร คุก 5 ปี, พุทธิพงษ์ 7 ปี, ณัฏฐพล 6 ปี 16 เดือน, อัญชลีโดน 1 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
24.02.2021
  • LOADING...
BREAKING : ศาลพิพากษาคดี กปปส. สุเทพ-ถาวร คุก 5 ปี, พุทธิพงษ์ 7 ปี, ณัฏฐพล 6 ปี 16 เดือน, อัญชลีโดน 1 ปี

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีกบฏ กปปส. ชุดใหญ่สำนวนหลัก หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ โดยสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวทุกคน

 

คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 – 1 พฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องกัน สุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือกลุ่ม กปปส. มีสุเทพเป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลัง แบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.

 

จากนั้น กปปส. จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สำนักงานเขตหลักสี่, ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 มกราคม – 2 มีนาคม 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน

 

โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152

 

สำหรับรายชื่อจำเลยคดีนี้ทั้งหมด 39 คน เรียงลำดับ ประกอบด้วย 1. สุเทพ เทือกสุบรรณ 2. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3. ชุมพล จุลใส 4. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 5. อิสสระ สมชัย 6. วิทยา แก้วภราดัย 7. ถาวร เสนเนียม 8. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 9. เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10. อัญชะลี ไพรีรัก 11. พล.อ. ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 12. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 13. ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 14. ถนอม อ่อนเกตุพล 15. สมศักดิ์ โกศัยสุข 16. สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ 17. สาธิต เซกัล 18. รังสิมา รอดรัศมี 19. พล.อ.ท. วัชระ ฤทธาคนี 20. พล.ร.อ. ชัย สุวรรณภาพ

 

21. แก้วสรร อติโพธิ 22. ไพบูลย์ นิติตะวัน 23. ถวิล เปลี่ยนศรี 24. ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์ 25. มั่นแม่น กะการดี 26. คมสัน ทองศิริ 27. พล.อ. ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 28. พิภพ ธงไชย 29. สาวิทย์ แก้วหวาน 30. สุริยะใส กตะศิลา 31. สุริยันต์ ทองหนูเอียด 32. พ.ต.ท. ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์ 33. สำราญ รอดเพชร 34. อมร อมรรัตนานนท์ 35. พิเชฐ พัฒนโชติ 36. สมบูรณ์ ทองบุราณ 37. กิตติชัย ใสสะอาด 38. ทยา ทีปสุวรรณ 39. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

 

วันนี้สุเทพ เลขาธิการ กปปส. กับพวกจำเลยรวม 37 คน เดินทางมาศาล ส่วน พล.อ. ปรีชา จำเลยที่ 11 เสียชีวิตแล้ว ขณะที่ พ.ต.ท. ภัทรพงศ์ จำเลยที่ 32 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีอื่น ให้รับฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำ ขณะที่บรรยากาศในศาล มีผู้ชุมนุมอดีต กปปส. จำนวนหนึ่ง มามอบดอกไม้ให้กำลังใจจำเลยคดี กปปส. พร้อมร่วมรับฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ศาลจัดแยกไว้ให้ที่ห้องพิจารณา 701 ด้วย ในส่วนการรักษาความปลอดภัย มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ร่วมกันดูแลความสงบเรียบร้อย

 

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 10.51 น. เสร็จสิ้นในเวลา 17.20 น. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏ และก่อการร้าย

 

ส่วนข้อหาอื่น พิพากษาจำคุก สุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี, พิพากษาจำคุก ชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี, อิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน, ถาวร เสนเนียม 5 ปี, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน, สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ 4 ปี 8 เดือน, อิสสระ สมชัย จำเลยที่จำคุก 7 ปี 16 เดือน, วิทยา แก้วภราดัย จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท, เอกนัฏ พร้อมพันธ์ุ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท, อัญชะลี ไพรีรัก จำคุก 1 ปี เป็นต้น

 

และพิพากษาให้ตัดสิทธิทางการเมืองคนละ 5 ปี คือ ชุมพล จุลใส ส.ส. พรรรคประชาธิปัตย์, อิสสระ สมชัย ส.ส. พรรรคประชาธิปัตย์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ, ร.ต. แซมดิน เลิศบุศย์, สำราญ รอดเพชร และทยา ทีปสุวรรณ

 

สำหรับสุเทพและจำเลยรวม 26 คน ศาลตัดสินจำคุกแตกต่างกัน ตั้งแต่ 4 เดือน ไปจนถึง 9 ปี 24 เดือน ในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงาน เพื่อบังคับรัฐบาล ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

 

ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือบางคนเป็นแกนนำ แต่กระทำความผิดน้อยกว่าบุคคลอื่น และไม่เคยปรากฏพฤติการณ์รุนแรง และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X