×

มนุษยชาติสูญเสียอะไรไปในเปลวเพลิงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบราซิล

04.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สิ่งหนึ่งที่ มาร์ซิโอ มาร์ติน โฆษกประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบราซิลได้ออกมากล่าวคือ งบประมาณที่ทางรัฐบาลให้การสนับสนุนแก่พิพิธภัณฑ์นั้นน้อยลงทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2013 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนที่ราว 130,000 เหรียญสหรัฐ ลดเหลือเพียง 84,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2017 ที่ผ่านมา
  • ความน่าเศร้าใจที่สุดคือก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์มีแผนที่จะรีโนเวตอาคารใหม่พร้อมทั้งติดตั้งและปรับปรุงระบบป้องกันเพลิงไหม้อีกด้วย
  • สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้และมีรายงานระบุแล้วว่า เราไม่สามารถปกป้องไว้ได้ อาทิ กะโหลกของลูเซีย อันเป็นโครงกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกค้นพบในทวีปอเมริกา ซึ่งมีอายุกว่า 11,500 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญของวิวัฒนาการมนุษย์ถึงเรื่องของการย้ายถิ่นฐาน

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น (3 ก.ย.) นั้นสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อวัตถุโบราณ นิเวศวัตถุ ผลงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติ มานุษยวิทยา และโบราณคดีที่จัดแสดงและเก็บรักษาอยู่กว่า 20 ล้านชิ้น อันมีค่าเกินกว่าจะสามารถประเมินได้ นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่แล้ว เหตุการณ์นี้ยังถือเป็นความวอดวายของแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

THE STANDARD พาคุณไปรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ครั้งนี้ รวมไปถึงคำถามที่ว่า ‘ในความร้อนระอุของเปลวเพลิง มนุษยชาติสูญเสียอะไรไปบ้าง’

 

งบจากภาครัฐที่ขาดแคลนและความทรุดโทรมของพิพิธภัณฑ์

ผู้ที่ติดตามข่าวอยู่เนืองๆ จะพบว่า ข่าวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในแถบอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลาหรือบราซิลเองก็ดี กำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจกันยกแผง ซึ่งเกิดจากปัญหาของการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะประเทศบราซิลที่มีตัวเลขของการก่อหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมหาศาลหลังสิ้นสุดงานกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกไปเมื่อปี 2016 ซึ่งนั่นคือเหตุผลทางอ้อมที่ส่งผลกระทบมาจนถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ อันหมายถึงการไม่สามารถจัดการกระจายงบประมาณหรือขาดแคลนงบประมาณที่จะมาสนับสนุนงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้

 

โดยภายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นและเปลวเพลิงได้สงบลง พบว่ามีกลุ่มผู้ประท้วงออกมาเดินแสดงความเสียใจและประท้วงต่อรัฐบาลที่ละเลยการดูแลอาคารดังกล่าว และสิ่งหนึ่งที่ มาร์ซิโอ มาร์ติน (Marcio Martin) โฆษกประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบราซิลได้ออกมากล่าวคือ งบประมาณที่ทางรัฐบาลให้การสนับสนุนแก่พิพิธภัณฑ์นั้นน้อยลงทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2013 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนที่ราว 130,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.25 ล้านบาทไทย ลดเหลือเพียง 84,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2017 ที่ผ่านมา แสดงถึงสภาพคล่องที่ฝืดเคืองของพิพิธภัณฑ์นี้ได้อย่างชัดเจน

 

หรือแม้แต่ครั้งหนึ่งในช่วงปีก่อน ห้องแสดงโครงกระดูกไดโนเสาร์เกิดปลวกกิน เนื่องจากอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารเก่าและมีไม้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง พิพิธภัณฑ์ จึงจำเป็นต้องปิดห้องนั้นและนำเสนอหนทางที่ให้ผู้คนเข้ามาร่วมระดมเงินเพื่อกำจัดปลวกและเปิดห้องให้ชมใหม่อีกครั้ง และความน่าเศร้าใจที่สุดคือก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์มีแผนจะรีโนเวตอาคารใหม่พร้อมทั้งติดตั้งและปรับปรุงระบบป้องกันเพลิงไหม้อีกด้วย

 

“เหมือนประชดกัน ดูสิ เงินเราก็พร้อม แต่เราไม่เหลือเวลาแล้ว” ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบราซิลอย่าง อเล็กซานเดอร์ แคลเนอร์ (Alexander Kellner) กล่าวกับนิตยสาร Time

 

 

สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบราซิลจัดแสดงโบราณวัตถุ เอกสาร และสิ่งของมากมายกว่า 20 ล้านชิ้น ซึ่งรวบรวมตั้งแต่งานทางด้านสัตววิทยา โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา ชีววิทยา ธรณีวิทยา และมานุษยวิทยา โดยแต่ละหัวข้อเรื่องราวล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะนับเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ภายในยังมีส่วนจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ วัฒนธรรม และสังคมของชาวเมดิเตอร์เรเนียน อียิปต์โบราณ หรือโบราณคดียุคก่อนโคลัมเบียน โบราณคดีในบราซิล และอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้และมีรายงานระบุแล้วว่าเราไม่สามารถปกป้องไว้ได้ อาทิ กะโหลกของลูเซีย (Luzia) โครงกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกค้นพบในทวีปอเมริกา ซึ่งมีอายุกว่า 11,500 ปี และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านของเธอด้วยซ้ำ เพราะเธอถูกค้นพบที่ประเทศบราซิล และเป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญของการย้ายถิ่นฐาน เพราะตามหลักฐานของการค้นคว้าและเปรียบเทียบ กะโหลกของลูเซียนั้นมีความคล้ายคลึงกับโครงกระดูกที่ค้นพบในทวีปเอเชียอย่างมาก

 

 

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการจัดแสดงมัมมี่จากชนเผ่าจิวาโร (Jivaro) ในลุ่มน้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นเทคนิคที่แตกต่างจากการนำศพลงใส่โลงเช่นของอียิปต์ เพราะมัมมี่จากชนเผ่าในลุ่มน้ำแอมะซอนนี้จะมีเทคนิคที่สามารถคงอยู่ได้โดยไม่เน่านานหลายปี ถึงแม้อากาศแถบนั้นจะมีความร้อนชื้นสูง เทคนิคที่ว่าคือการนำกะโหลกออกจากผิวหนัง ทิ้งเส้นผมไว้บนหนังศีรษะ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีต่างให้ความสนใจอย่างมาก และศึกษาข้อมูลและเทคนิคดังกล่าวอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 19  

 

(ซ้าย) เครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานของชาวอินคาและกีปู เครื่องนับเลขเครื่องแรกของโลก

 

ในส่วนของวัตถุโบราณที่จัดแสดงเองก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะในบรรดาโบราณวัตถุกว่า 100,000 ชิ้นนั้น เป็นการรวบรวมนำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือข้าวของเครื่องใช้ในยุคพรีโคลัมเบียน ซึ่งรวบรวมมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 ซึ่งวัตถุโบราณบางส่วนนั้นเป็นของจักรพรรดิเปโดรที่ 2 ของบราซิล และร่องรอยของอารยธรรมอินคาที่ยังหลงเหลืออยู่อีกด้วย อาทิ กีปู (Quipu) อันเป็นเครื่องมือการบันทึกตัวเลขแบบฐานสิบของชาวอินคาที่ใช้เชือกมัดเป็นปมๆ รวมไปถึงคอลเล็กชันโบราณวัตถุที่ได้มาจากยุคเมดิเตอร์เรเนียนที่โดดเด่นในเรื่องของงานสำริด หรือการรวบรวมหลักฐานของสัมพันธไมตรีระหว่างบราซิลและชาติมหาอำนาจต่างๆ ในยุคล่าอาณานิคมอย่างโปรตุเกสหรืออังกฤษ

 

 

จิตรกรรมฝาผนังโรมันโบราณที่เก็บสะสมมาจากเมืองโบราณเลื่องชื่อในอิตาลีอย่าง ‘ปอมเปอี’ ก็จัดแสดงอยู่ที่นี่เช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นเสมือนงานชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์นี้ที่จัดแสดงความสวยงามของศิลปะในรูปแบบเกรโก-โรมัน ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้มีชีวิตรอดมาตั้งแต่ในคริสต์ศักราช 79 นับจากการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสที่คร่าชีวิตผู้คนในเมืองปอมเปอี นี่คือชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ส่วนเท่านั้นที่ยังเหลือให้คนรุ่นหลังได้รับชม

 

 

แม้แต่ตัวอาคารเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ไม่สามารถประเมินราคาได้ ซึ่งอาคารของพิพิธภัณฑ์นี้เองเดิมทีเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์โปรตุเกสครั้งยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นอาคารที่มีการออกแบบในรูปแบบศิลปะนีโอคลาสสิกที่สวยงามและทรงคุณค่า ซึ่งหลังจากที่ดัดแปลงพระราชวังเก่านี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 1892

 

ไม่ใช่แค่เรื่องของบราซิล แต่เป็นเรื่องของทุกคน

ที่เรากล่าวเช่นนั้นอาจไม่หนีเกินความจริงแต่อย่างใด เพราะปริมาณชิ้นงานจัดแสดง และโบราณวัตถุมากมายที่จัดแสดงอยู่ล้วนแล้วแต่เป็นชิ้นงานสำคัญของประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และไม่สามารถประเมินค่าได้ ความสำคัญของชิ้นงานเหล่านี้คือการยืนยันตัวตนและระบุที่มาของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิวัฒนาการทั้งทางกายภาพ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งยังส่งผลต่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และแขนงอื่นๆ ได้อีกมากมาย

 

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเสมือนการเปรียบเปรยกลายๆ ถึงสภาพสังคมของประเทศบราซิลที่กำลังล่มสลายด้วยการคอร์รัปชันและสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งต่างมองข้ามและไม่คำนึงถึงความสำคัญของโบราณสถานและเรื่องราวที่สำคัญต่อมวลมนุษย์ ไร้ซึ่งการใส่ใจถึงความงดงามและคุณค่าของประวัติศาสตร์ไปอย่างไม่ไยดี นั่นอาจเป็นเพราะรัฐบาลต่างมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มทุนหรือไม่จำเป็นต่อการลงทุน ดังเช่นการตัดทอนงบประมาณลงในทุกๆ ปี

 

เราภาวนาขออย่าได้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับพิพิธภัณฑ์แห่งไหนอีกเลย

 

Photo: National Museum of Brazil

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising