บรรจุภัณฑ์อาหารทั้งของใช้เพื่ออุปโภคบริโภคที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีหลากหลาย โดยเฉพาะ ‘น้ำดื่ม’ ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องบริโภคเข้าสู่ร่างกายทุกวัน แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่าน้ำดื่มในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ทางเคมีที่หลายบริษัทนิยมใช้นั้นปลอดภัยขนาดไหน
THE STANDARD หาคำตอบนี้จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดย ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกของสถาบันฯ ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า
มีรายงานระบุว่าในปี 2555 มีการผลิตพลาสติกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 299 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะผลิตมากขึ้นทุกปี ซึ่งพลาสติกบางส่วนถูกย่อยด้วยแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์จนกลายเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ (ขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร) และพบการแพร่กระจายทั้งบนผิวน้ำ ชายหาด และก้นทะเล ซึ่งเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของสัตว์น้ำหลายต่อหลายครั้ง และเมื่อไมโครพลาสติกถูกสะสมในสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น แพลงตอน กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ และในที่สุดไมโครพลาสติกก็เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและมาถึงเราในฐานะผู้บริโภค
“ไม่นานมานี้เอง นักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการหลายแห่งทั้งในยุโรปและอเมริกาได้ให้ความสนใจเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากห้องปฏิบัติหนึ่งในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 250 ขวด จาก 11 ยี่ห้อที่มีจำหน่ายใน 9 ประเทศ พบว่าตัวอย่างจำนวน 93% ปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 11 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร
ดังนั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ในเรื่องความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวดของประเทศไทย THE STANDARD จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำดื่มจำนวน 24 ขวด จาก 12 ยี่ห้อที่วางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วไปมาทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR-Microspectroscopy) พบว่ามีเพียง 41% ของจำนวนทั้งหมดที่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อน และมีปริมาณโดยเฉลี่ย 2 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมากจนเชื่อได้ว่าปลอดภัยต่อการบริโภค” ดร.สมชายกล่าว