×

ธปท. รอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ ชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแรงส่งของตัวเองต่างจากช่วงโควิด นโยบายการเงิน-การคลังต้องประสานกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพ

12.04.2023
  • LOADING...

แบงก์ชาติรอติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ ชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแรงส่งของตัวเอง ต่างจากช่วงโควิด นโยบายการเงิน-การคลังต้องประสานกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพ มองเงินเฟ้อไทยยังมีความเสี่ยงด้านสูง แม้เริ่มชะลอกลับเข้ากรอบเป้าหมาย

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นเมื่อถูกถามถึงการใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2566 ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโควิด มีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการคลังและการเงิน 

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวและมีแรงส่งของตัวเองมากขึ้น ทำให้ช่วงที่ผ่านมาการสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังเริ่มมีการผ่อนคันเร่งลง

 

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นโยบายการเงินการคลังของไทยผสานกันได้ค่อนข้างดี คงต้องรอดูว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร แต่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลังควรจะต้องมีการประสานกัน” ปิติกล่าว

 

โดยในงาน Forum ดังกล่าว ปิติยังให้มุมมองถึงภาวะเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่า ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 28 ล้านคน คิดเป็น 70% ของช่วงก่อนโควิด และการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% 

 

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

 

อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นที่ยังต้องติดตามคือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่สูงจากปัญหาเงินเฟ้อและสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเงินเฟ้อโลกที่มีความหนืดและไม่ได้ลดลงเร็ว อาจทำให้เงินเฟ้อไทยปรับลดลงช้าตามไปด้วย เนื่องจากในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา 60% ของพลวัตเงินเฟ้อไทยมีความเชื่อมโยงกับเงินเฟ้อโลก 

 

โดยล่าสุด ธปท. มองว่า เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 2.9% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.4%

 

“เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มปรับลดลง และจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาส 2 แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง โดยสิ่งที่ต้องจับตาดูมี 2 ประการ คือ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอาจยังมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับหมวดสินค้าที่ต้องจับตาดูการปรับราคาคือ หมวดอาหารสำเร็จรูปและหมวดบริการ” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวอีกว่า ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่ทำให้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายไทยในรอบนี้จะอยู่ที่ระดับใด เพราะต้องพิจารณาจากข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

 

อย่างไรก็ดียอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตพอสมควร แต่การจะตอบว่าอัตราที่เหมาะสมอยู่ที่ระดับใด คงต้องพิจารณาจากบริบททางเศรษฐกิจ

 

“ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ดอกเบี้ยที่ติดลบอาจมีความเหมาะสม แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ดุลยภาพแล้ว เงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมายแล้ว ดอกเบี้ยแท้จริงก็ไม่ควรติดลบ แต่บริบทของเราในปัจจุบันยังไปไม่ถึงจุดนั้น” ปิติกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising