×

แบงก์ชาติส่งสัญญาณพร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาท หลังอ่อนค่าทะลุระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ แจงการอ่อนค่าเกิดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก

03.10.2023
  • LOADING...
พร้อมดูแล ค่าเงินบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณพร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาทหลังอ่อนค่าผ่านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ในวันนี้ (3 ตุลาคม) แจงการอ่อนค่าเกิดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และอ่อนค่าผ่านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ในวันนี้ โดยปรับอ่อนค่าลง 6.75% จากต้นปี สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยการอ่อนค่าในช่วงหลังได้รับผลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ

 

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาทองคำที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี ซึ่งตลาดมองว่าอาจกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ประกอบกับนักลงทุนยังรอความชัดเจนของนโยบายการคลังและการระดมทุนของภาครัฐ

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาเข้าดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ และในช่วงที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน

 

ด้าน รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในวันนี้อ่อนค่าทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 11 เดือน โดยอ่อนค่าไปแตะระดับสูงสุดที่ 37.16 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้า ก่อนจะทยอยค่ากลับมาสู่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงบ่าย ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการพักฐานขายดอลลาร์ทำกำไรของนักลงทุน

 

รุ่งประเมินว่า ในระยะสั้น 1-2 สัปดาห์จากนี้เงินจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในฝั่งอ่อนค่าและไม่มีแนวโน้มกลับตัว โดยอาจมีการพักฐานทำกำไรของนักลงทุนเป็นระยะ เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ก็ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมองแนวต้านถัดไปของเงินบาทไว้ที่ 37.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ในวันนี้อ่อนค่าหลุดระดับ 37 บาทไปแล้ว

 

“ปัจจัยที่จะทำให้เงินบาทกลับตัวมาอยู่ในทิศทางแข็งค่าได้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น การจ้างงานออกมาแย่ บอนด์ยีลด์จะปรับลดลง ดอลลาร์จะเริ่มอ่อนลงได้บ้าง” รุ่งกล่าว

 

รุ่งกล่าวอีกว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบเดือนที่ผ่านมาถือว่ามีสัญญาณที่น่ากังวล เพราะภายในเดือนเดียวเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 4.3% สูงที่สุดในภูมิภาคและอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินที่อ่อนค่าเป็นอันดับ 2 คือวอนของเกาหลีใต้กว่าเท่าตัว ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่ามีปัจจัยเฉพาะตัวของเงินบาทนอกเหนือจากความกังวลเรื่องการดำเนินนโยบายของธนาคารสหรัฐฯ ที่นักลงทุนให้ความสนใจ

 

“หากนับจากต้นปีเงินบาทอ่อนค่ามาแล้วเกือบ 7% แต่ยังมีเงินวอนและเงินริงกิตที่อ่อนมากกว่า แต่ถ้านับเฉพาะเดือนกันยายนเราอ่อนค่าแบบทิ้งคนอื่นไม่เห็นฝุ่น ซึ่งผิดปกติและไม่ได้เกิดจากความกังวลภาวะ Higher for Longer เพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่อง Correlation กับเงินหยวนและทองคำ ความกังวลทางการคลังที่จะเกิดจากการทำนโยบายกระตุ้นของภาครัฐและราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นด้วย” รุ่งกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X