ธปท. จ่อหั่น GDP ไทย ในการประชุม กนง. นัดสิ้นเดือนนี้ มองผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจมี ‘ไม่น้อย’ แต่ ‘ไม่เท่า’ ช่วงโควิด พร้อมเปิด 5 ช่องทางผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
วันนี้ (17 เมษายน) สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Media Briefing หัวข้อ ‘วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย’ โดยระบุว่า กนง. เตรียมปรับประมาณการ GDP ไทยลง จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะโตสูงกว่า 2.5% นิดๆ พร้อมมองผลกระทบไม่เท่าช่วงโควิด
“จากการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กนง. เคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตสูงกว่า 2.5% นิดๆ แค่ตอนนี้แน่นอนว่าประมาณการ GDP ไทยปีนี้ต้องปรับลดลงแน่นอน แต่ส่วนที่ปรับลดลงจะมากน้อยขนาดไหน ต้องรอดูผลกระทบจากมาตรการ Tariff ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหลังของปี เพราะฉะนั้น ธปท. จะต้องขอรอดูพัฒนาการก่อน” สักกะภพกล่าว
ทั้งนี้ ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดต่อไปในวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นนัดที่จะมีการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจใหม่
สักกะภพระบุอีกว่า “Shock ครั้งนี้นับว่าใหญ่ แต่มีความลึกแค่บางภาคส่วน (Sector) เท่านั้น ไม่เหมือนกับช่วงโควิด ที่การลงของ Shock กระจายไปทั่ว โดยปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักต่างๆ ทั่วโลกประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ครั้งนี้ต่อ GDP โลก จะอยู่ที่ราว 0.5% เทียบกับโควิดซึ่งกระทบ GDP โลกราว 2-3% จะเห็นว่าสเกลไม่เท่ากับช่วงโควิด กลับมาที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตัวเลขที่เรามองไว้ก็ ‘ไม่ได้น้อย’ แต่ก็ไม่ได้ลงรุนแรงเท่าช่วงโควิด โดยกรอบ (Range) ของ GDP ที่เป็นไปได้ก็ค่อนข้างกว้างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเจรจาต่อรอง และอัตราภาษี จึงต้องขอดูความชัดเจนอีกทีก่อนจะให้ตัวเลขไป”
ธปท. เปิด 5 ช่องทางผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สักกะภพกล่าวอีกว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ คาดว่าจะใหญ่และยืดเยื้อ (Large and Prolonged Shocks) โดยผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน
โดยความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บเทียบกับประเทศคู่ค้า และการตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก และสหรัฐฯ ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินไทยจะมีผ่าน 5 ช่องทางหลัก ดังนี้
1. ตลาดการเงิน: ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกและไทยผันผวนมากขึ้น
โดยรวมสภาพคล่องและกลไกการทำธุรกรรม (Market Functioning) ยังเป็นไปตามปกติ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจาก ช่วงก่อนวันที่ 2 เมษายน เล็กน้อย (2.71% ณ 12.00 น. 17 เมษายน 2568 เทียบกับ JPY และ KRW ที่แข็งค่าขึ้น 4.75% และ 3.11% ตามลำดับ) สอดคล้องกับภูมิภาค ตามค่าเงิน USD ที่อ่อนเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ส่วนตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ในส่วนของภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้โดยรวมยังเป็นปกติ โดยต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Tariff อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี
2. การลงทุน: ความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่อง ทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุนชะลอออกไป (Wait and See)
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์) ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว จากการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวมีบางส่วนรอความชัดเจนเพื่อตัดสินใจการลงทุนใหม่จากแผนเดิมที่วางไว้ ในระยะต่อไป หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย
3. การส่งออก: เป็นช่องทางหลักที่ได้รับผลกระทบจาก Tariff แต่ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี
เนื่องจากมีการชะลอการบังคับใช้ Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน จึงคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และน่าจะเห็นการเร่งส่งออกในไตรมาส 2 เช่น อาหารแปรรูป โดย Exposure ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และคิดเป็น 2.2% ของ GDP
โดยsector หลักๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ใน supply chain ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย (ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ คิดเป็นประมาณ 4.3% ของการส่งออกไทย)
4. การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น
สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง และหันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทย รวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม
5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอ
การส่งออกโดยรวมและรายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจาก เศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน
นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายลงหรือไม่
เมื่อถูกถามว่า ธปท. จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สักกะภพตอบว่า ลักษณะของ Shock ครั้งนี้มีผลกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกเป็นหลัก เพราะฉะนั้น นโยบายที่ตรงจุดและมีต้นทุนน้อยที่สุดหากจะทำ คือ การปรับปรุงภาคการผลิต ไม่ใช่แค่การดูแลระยะสั้น รวมไปถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขยายตลาด การลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
แนะวิธีรับมือนโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป
โดยนโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ถือเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างถาวร ทำให้ต้องเร่งปรับตัว
ในระยะสั้น นอกจากเรื่องการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (Transshipment) เช่น กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าและความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน (AD/CVD และ AC) ข้อพิพาทกับต่างประเทศ การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม เป็นต้น
ในระยะยาว ไทยควรขยายตลาดและเสริมสร้าง Supply Chain โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาค และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ เช่น ยกระดับภาคการผลิตและ ภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม ทักษะแรงงาน และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค