ธปท. เผยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนเมษายนปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก มองการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า-ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต-ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว ยังเป็น 3 ปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามต่อ แย้ม กนง. เตรียมปรับตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์หน้า
ในวันนี้ (31 พฤษภาคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินในเดือนเมษายน 2565 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สอดคล้องกับความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามหมวดก่อสร้าง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม
นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน และการทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2565 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้บ้างแล้วจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วราว 7.9 แสนคน แต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ ธปท. จะจับตาดูต่อในช่วงที่เหลือของปี
“การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นสิ่งที่เราจับตาดูต่อในครึ่งปีหลัง เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องจับตาดูเช่นกัน คือ ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ความเสี่ยงทางการเมืองก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ธปท. ติดตามใกล้ชิด แต่จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา ความเสี่ยงทางการเมืองมักจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก” ชญาวดีกล่าว
ชญาวดียังเตือนให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการดูแลป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มผันผวนทั้งจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ
“ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้า (8 มิถุนายน) จะนำปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มาพิจารณา โดยคาดว่าจะมีการปรับประมาณการตัวเลขของเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น” ชญาวดีกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP