×

ธปท. เผยหนี้กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษพุ่งแตะ 6.6 แสนล้านบาท บี้แบงก์รีบเข้าช้อนเพื่อดูแลก่อนกลายเป็นหนี้เน่า

22.05.2023
  • LOADING...
ธนาคารพาณิชย์

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการแถลงข่าวสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1/66 ว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินและนอนแบงก์ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. มีหนี้กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษหรือ Special Mention (SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วันแต่ยังไม่เกิน 90 วัน คิดเป็นมูลค่ารวมกันราว 6.6 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า

 

โดยพบว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้กลุ่ม SM มีการกระจายตัวอยู่ในสินเชื่อรายย่อยทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนสาเหตุที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ก็พยายามปรับเปลี่ยนนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อบรรเทาผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ได้เร่งรัดให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้าไปดูแลลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ด้วยความรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย

 

“เราไม่ได้ตกใจแต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้จับตาดูตลอด กลุ่ม SM คือคนที่ค้างชำระเกิน 30 วันแต่ยังไม่เกิน 90 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้แต่ถ้าเราเข้าไปช้อนเร็วเขาจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วเช่นกัน” สุวรรณีกล่าว

 

สำหรับภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2566 สุวรรณี ระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัวที่ 0.5% ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และ Soft Loans รวมทั้งการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ 

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งได้เลือกระดมทุนผ่านตราสารหนี้แทนการใช้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคการเงินและพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ 

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อ พบว่าธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 4.98 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.68% 

 

“สำหรับแนวโน้มของหนี้เสียในระยะข้างหน้า เราไม่ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขหนี้เสียจะเป็นอย่างไร แต่มองว่าเราได้ผ่านช่วงที่แย่ที่สุดของ NPLs คือช่วงที่รายได้ของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวมาแล้ว โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง” สุวรรณีกล่าว 

 

ข้อมูลล่าสุดของ ธปท. ระบุว่า ปัจจุบันยังมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินอยู่ 5.26 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือราว 3.37 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ของระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่า ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สุทธิกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ ประกอบกับกำไร FVTPL จากตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ แม้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองจะเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อนธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิลดลง 4.0% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับไตรมาสก่อนมีรายได้พิเศษจากการขายและโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อย แม้ค่าใช้จ่ายสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะปรับลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 86.9% ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านความสามารถในการทำกำไรปรับลดลง แต่ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising