หลังจาก กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตรา ดอกเบี้ย นโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม ยังมี 3 ความเสี่ยงขาลงที่อาจกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
วันนี้ (21 สิงหาคม) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงานแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 4/2567 โดยระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะยังขยายตัวตามที่ กนง. เคยประเมินไว้ แต่ความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) อาจมีมากขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และความเสี่ยงที่ภาวะสินเชื่ออาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยปิติอธิบายว่า กนง. กำลังรอดูว่าการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบหนักขนาดนี้ หรือลดลงมากกว่าช่วงวิกฤตโรคโควิด เป็นปัจจัยชั่วคราวหรือไม่ ขณะที่การลงทุนภาครัฐที่ออกมาแย่ต่ำกว่าคาดก็ต้องรอดูความชัดเจนอีก 2-3 เดือนเช่นกัน
ส่วนภาวะสินเชื่อ ปิติกล่าวว่า กนง. ยังต้องรอดูความชัดเจนว่าพัฒนาการด้านคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนจะเป็นอย่างไร แม้ที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อน้อยลงและคุณภาพแย่ลงบ้าง แต่ในภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังไม่แย่เกินกว่าที่ กนง. คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส โดยติดลบถึง 6.8%
ปิติระบุอีกว่า กนง. ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน “โดยหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้ กนง. ก็จะพิจารณาจุดยืนความเหมาะสมของนโยบายอีกครั้ง แต่หากสภาพเศรษฐกิจต่างๆ ยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ก็ถือว่าจุดยืนปัจจุบันเป็นกลาง (Neutral)”
ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดที่ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ปิติยืนยันว่า การตัดสินใจของ กนง. ไม่ได้อิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed มากขนาดนั้น แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยพิจารณาเท่านั้น เห็นได้จากรอบก่อนหน้านี้ที่ ธปท. ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าและน้อยกว่า Fed มาก
พร้อมย้ำว่า ปัจจัยหลักที่ กนง. พิจารณา ได้แก่ ปัจจัยในประเทศ ภาวะการเงิน ที่เชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น
กรุงศรีมองว่าท่าที กนง. ระมัดระวังมากขึ้น
ขณะที่ รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สำหรับการประชุม กนง. ในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 16 ตุลาคมนี้ แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมในรอบนี้จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันมีความเหมาะสม เอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แต่เราประเมินท่าทีของ กนง. ในวันนี้ว่าบ่งชี้ถึงสัญญาณที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยระบุว่า ในอนาคตจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงด้านขาลงของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้กรุงศรียังคงเห็นว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป แต่ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่เพิ่มเข้ามาเช่นกัน