×

ธปท. จับตา ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น-ค่าครองชีพ’ กระทบลูกหนี้เปราะบาง คาดหนี้เสียปีนี้ปรับสูงขึ้นแต่ไม่ชันเป็นหน้าผา

20.02.2023
  • LOADING...
ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าครองชีพ

แบงก์ชาติจับตาดอกเบี้ยขาขึ้น-ค่าครองชีพ กระทบลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง คาดหนี้เสียปีนี้ปรับสูงขึ้นแต่ไม่ชันเป็นหน้าผา เผยอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2565 และปี 2565 ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ขยายตัวที่ 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อ Soft Loan รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งและการบริหารจัดการคุณภาพหนี้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์และสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 4.99 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.73% ลดลงจาก 2.98% ในปีก่อนหน้า

 

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วงโควิด 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยภาคครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูงและยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น 

 

ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน และความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น 

 

“สถานการณ์คุณภาพหนี้ในระบบเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เท่าเดิมและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นและค่าครองชีพ ในภาพรวม NPL ปีนี้อาจปรับเพิ่มขึ้นแต่จะไม่ชันเป็นหน้าผา เพราะมาตรการแก้หนี้ระยะยาวของ ธปท. จะยังมีไปถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเพียงพอสำหรับรองรับลูกหนี้ที่เปราะบาง” สุวรรณีระบุ

 

สุวรรณีกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้หรือไม่ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเปิดช่องให้สามารถต่ออายุมาตรการออกไปได้อีก 1 ปี 

 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า โครงการสินเชื่อฟื้นฟูมีการอนุมัติวงเงินไปแล้วทั้งสิ้น 212,362 ล้านบาท มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 59,861 ราย คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อราย ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนแล้วที่ 64,966 ล้านบาท จากผู้ได้รับความช่วยเหลือ 442 ราย

 

ขณะที่ในส่วนของมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปีนี้จะไม่มีการต่ออายุ โดย ธปท. จะเดินหน้าทำ Policy Normalization ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพหนี้ในระบบที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ทั้งนี้จะยังผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาต่อไป

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนจะปรับเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินสนใจเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสถาบันการเงินเข้าร่วมแล้ว 35 ราย ครอบคลุม 70-80% ของยอดหนี้ในระบบ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X