×

ธปท. เผย พยายามคุมการส่งผ่านดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย MRR ลดผลกระทบคนตัวเล็ก เร่งตรวจประสิทธิภาพแบงก์ หวังลด NIM ในอนาคต

16.01.2024
  • LOADING...
ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย

แบงก์ชาติเผย ไม่ได้ละเลยลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระเพิ่มขึ้น หลัง กนง. เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา เผยพยายามคุมการส่งผ่านดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยมาตลอด นอกจากนี้ เตรียมดูแลโครงสร้างการดำเนินธุรกิจแบงก์เพิ่ม หวังลด NIM ในอนาคต หลังเกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าแบงก์พาณิชย์ค้ากำไรเกินควร

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน BOT Policy Briefing ถึงแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 15 มกราคม โดยระบุว่า แบงก์ชาติคำนึงและมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น หลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น สิ่งที่ ธปท. พยายามทำเป็นอันดับแรกคือการดูแล ‘การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย’ (Transmission) ให้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย MRR โดยพยายามทำให้การส่งผ่านดอกเบี้ย MRR อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยตัวอื่นๆ เช่น MLR และ MOR

 

โดยสุวรรณีแจงว่า หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา สัดส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย MRR อยู่ที่ 49% เท่านั้น (หมายความได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% อัตราดอกเบี้ย MRR จะขึ้นราว 0.49% เท่านั้น) โดยการส่งผ่านดังกล่าวนับว่าต่ำ เมื่อเทียบกับในอดีตที่ 58% และต่ำกว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยประเภท MLR และ MOR ซึ่งอยู่ที่ 69% และ 64% ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ อัตราการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission Rate) ของไทยก็นับว่ายังต่ำกว่าหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ส่งผ่าน 100%, มาเลเซียที่ 80% และสหภาพยุโรป 61% 

 

กระนั้น อัตราการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของไทยก็นับว่ายังสูงกว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ 56% และ 24% ตามลำดับ

 

สุวรรณีกล่าวอีกว่า ธปท. เห็นว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ จึงยังไม่ได้ดึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปราะบางกลับทันที โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนสินเชื่อภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นมาก โดยอยู่ที่ 11.5% ของสินเชื่อทั้งหมด เทียบกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน และอินเดีย ที่อยู่ที่ราว 1-5% เท่านั้น รวมไปถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ต่ำกว่า 1%

 

เตรียมดูแลโครงสร้างการดำเนินธุรกิจแบงก์ ลด NIM ในอนาคต

 

สุวรรณียอมรับว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 2.95% นับว่ายังอยู่ระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ NIM ยังไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายประเภทที่ธนาคารใช้ประกอบธุรกิจ เช่น ระบบไอที และค่าใช้จ่ายต่างๆ

 

ดังนั้น ธปท. จึงจะเข้าไปดูว่าอัตราที่สูงขึ้นเกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพอะไรบางอย่างจากการดำเนินธุรกิจหรือไม่ โดยหากปรับลดจุดที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ NIM ในอนาคตยั่งยืนกว่านี้

 

ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใช้คำนวณโดยใช้จำนวนดอกเบี้ยรับทั้งสิ้น ลบจำนวนดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น หารด้วยสินทรัพย์ทั้งสิ้น ทำให้ NIM เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่าย

 

โดยองค์ประกอบที่สำคัญของดอกเบี้ยรับคือปริมาณเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนต่างๆ ทั้งต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้กู้หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ และต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงผลกำไรเพื่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโตในอนาคต

 

ทั้งนี้ หากต้นทุนต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ทั้งจากการลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้ การลดต้นทุนการดำเนินงานจากการเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการส่งเสริมการแข่งขันในระบบการเงิน จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปยังธุรกิจและประชาชน ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ปรับลดลง และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising