×

กนง. หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 0.7% หลังผลกระทบโควิดรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ชี้มาตรการ QE ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย

04.08.2021
  • LOADING...
Titanun Mallikamas

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยที่ประชุม กนง. ในวันนี้ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ 2565 ลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ลดลงจาก 1.8% เหลือ 0.7% ขณะที่เศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ 3.7% ลดจาก 3.9% ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรงในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ไทยเผชิญกับภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ 

 

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดมากกว่าที่ประเมินไว้ และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าก็ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ คือการเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ 

 

ในด้านการให้ความช่วยเหลือ กนง. มองว่าต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่อง และลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาใช้เครื่องมืออัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE ยังมองว่าการทำ QE อาจไม่ตอบโจทย์ของไทย เพราะ 1. โจทย์ปัจจุบันไม่ใช่สภาพคล่องโดยรวมไม่เพียงพอ 2. ไทยเป็น Bank-based Economy ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้เพียง 10% การทำ QE จะได้ประโยชน์ในวงจำกัด 3. ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว โดยมองว่า มาตรการที่ตอบโจทย์ตอนนี้คือ มาตรการการเงินและสินเชื่อ ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้าง และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะต้องประสานนโยบายด้านอื่นที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยควบคู่ไปด้วย โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ ขณะที่มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ 

 

ทั้งนี้ กนง. มองว่า แม้จะมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ค่อนข้างมาก แต่ระยะข้างหน้ายังมีเครื่องยนต์อื่นๆ ที่ยังพอพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บ้าง อาทิ การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่สถานการณ์เบากว่าไทย ภาคการคลังที่ออกเม็ดเงินเยียวยาต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดทอนผลกระทบจากการควบคุมการระบาด ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ รวมถึงการคุมการระบาดและเร่งผ่อนคลายมาตรการลดการเคลื่อนที่ ซึ่งถ้าหากสามารถผ่อนคลายได้ไม่ช้าไปกว่าต้นไตรมาส 4 ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวในปีนี้

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินล่าสุดพบว่ายังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น 

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนพบว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาคจากสถานการณ์โควิดที่รุนแรง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด โดยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising