×

แบงก์ชาติย้ำ ‘กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ’ เหมาะสม เอื้อให้เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ ห่วงเงินเฟ้อสูง-ผันผวนกระทบต่อการวางแผนของประชาชน

26.06.2024
  • LOADING...

แบงก์ชาติยืนยัน กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เหมาะสม ทำหน้าที่ได้ดี สอดคล้องกับเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต พร้อมทั้งยังเอื้อให้เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ ห่วงเงินเฟ้อสูง-ผันผวนกระทบต่อการวางแผนของประชาชน

 

วันนี้ (26 มิถุนายน) ด้าน ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เหมาะสม เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ราว 2% นอกจากนี้ กรอบดังกล่าวยังไม่ค้านกับสถานการณ์ในบริบทโลกช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากจีนเข้ามาในระบบการค้าโลกจนทำให้เกิดแรงกดดันต่อสินค้าในบางหมวดหมู่ให้อยู่ในระดับต่ำ

 

“เงินเฟ้อของไทยที่ต่ำในอดีตไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด ในบริบทโลกช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สาเหตุที่เงินเฟ้อโลกและไทยต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจีนเข้ามาในระบบการค้าโลก จะเห็นชัดเจนว่ามีแรงกดดันสินค้าบางหมวดหมู่ให้อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ถ้า ธปท. กำหนดอัตราเงินเฟ้อโดยไม่คำนึงปัจจัยพื้นฐานที่กำลังผลักดันราคาในบางประเทศ ก็อาจเป็นการกำหนดนโยบายที่ค้านกับปัจจัยพื้นฐาน” ปิติกล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567

 

ปิติอธิบายอีกว่า อัตราเงินเฟ้อในดุลยภาพไม่ค่อยเกี่ยวโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าไร กล่าวคือเงินเฟ้อไม่ได้เป็นตัวกำหนดหรือเป็นปัจจัยพื้นฐานของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่แต่ละธนาคารกลางกำหนดไว้มองว่า เป็นระดับเงินเฟ้อที่เอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวไปตามศักยภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรค 

 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปอาจมาพร้อมกับความผันผวนที่ค่อนข้างเยอะตามธรรมชาติ โดยหากเกิดความผันผวนก็อาจทำให้การวางแผนของประชาชนทุกคนยากขึ้น นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ ธปท. ไม่อยากให้เงินเฟ้อสูงเกินไป

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้อ เนื่องจากห่วงว่ากรอบดังกล่าวจะยังเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจหรือไม่ หลังใช้มาราว 3-4 ปีแล้ว

 

ทั้งนี้ การทบทวนเป้าหมายของนโยบายการเงินรวมถึงเป้าหมายเงินเฟ้อจะมีการหารือและทบทวนร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว

 

ขณะที่ สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ‘ทำหน้าที่ได้ดี’ และมีส่วนช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงเงินเฟ้อสูงเมื่อปี 2565

 

“แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูงในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไปแตะระดับเกือบ 8% แต่หลังจากนั้น เงินเฟ้อก็กลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายได้ในระยะเวลาไม่ถึง 7 เดือน สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบัน ‘ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี’ โดยจะเห็นว่าคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลาง (Medium-Term Inflation Expectation) ในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างมีเสถียรภาพอยู่ที่ราว 2% มาโดยตลอด” สุรัชกล่าว

 

พร้อมทั้งเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายไตรมาสมีแนวโน้มจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยน่าจะอยู่ระดับสูงกว่า 1% ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤษภาคม 2567 สูงขึ้น 1.54%YoY สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อไทยรายเดือนที่ผ่านมาเข้าสู่กรอบเป้าหมายเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising