×

ธปท. เตรียมหั่น GDP ปีนี้ มองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนกดดันราคาน้ำมัน ทำเงินเฟ้อปีนี้ทะลุกรอบ 3%

16.03.2022
  • LOADING...
ธปท.

แบงก์ชาติเตรียมหั่นประมาณการ GDP ปีนี้ มองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนอาจกดดันราคาน้ำมัน ทำเงินเฟ้อทะลุกรอบ 3% เกาะติดสถานการณ์ในต่างประเทศ หวั่นความขัดแย้งลุกลามขยายวงกระทบเศรษฐกิจโลก แต่ยังเชื่อ ไทยไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation 

 

​ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าตัวเลขคาดการณ์ GDP ที่ออกมาจะลดลงจากเดือนธันวาคมเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปัญหาสถานการณ์ในยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงราคาพลังงานในตลาดโลก

 

ปิติประเมินว่า ในกรณีฐานสถานการณ์สู้รบในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลให้ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูงก่อนจะค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปี ทำให้ระดับเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปีนี้มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นจนหลุดจากกรอบ 3% ได้ 

 

อย่างไรก็ดี ปิติมองว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเวลานี้มีสาเหตุมาจาก Supply Shock ซึ่งโดยปกติจะเป็นภาวะชั่วคราว และเมื่อเวลาผ่านไปจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ทำให้นโยบายการเงินอาจต้องมองทะลุเรื่องนี้ไป และยังคงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาก่อน

 

ปิติกล่าวอีกว่า จากการติดตามดูสินค้า 400 รายการในตระกร้าเงินเฟ้อของไทยพบว่า การเพิ่มขึ้นของราคายังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอาหารและพลังงาน โดยมีสินค้า 180 รายการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงและลดลง ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อยังไม่กระจายตัว และไม่ใช่เงินเฟ้อตามวัฏจักรเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อที่มาจากการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตที่น่ากังวล

 

“ถามว่าเรามองเงินเฟ้อต่ำเกินไปหรือเปล่า ต้องบอกว่าเราพยายามมองในระยะปานกลาง เพราะในระยะสั้นคงเป็นเรื่องที่ประมาณการได้ยาก ถ้าดูเงินเฟ้อแบบ YoY ตัวเลขคงจะออกมาสูง เพราะมีเรื่องฐานของปีที่ผ่านมา เราจึงดูแบบ MoM มากกว่า ซึ่งตอนนี้ยังเชื่อว่าเป็นภาวะชั่วคราว” ปิติกล่าว

 

เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation ของไทย ปิติระบุว่า โดยส่วนตัวมองว่า แม้เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นและเศรษฐกิจอาจเติบโตได้ลดลง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่าย Stagflation เนื่องจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจาก Supply Shock ไม่ได้หยั่งรากลึก ขณะที่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้อยู่ เพียงแต่เติบโตในอัตราที่ช้าลงเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ปิติยอมรับว่า สถานการณ์ในต่างประเทศยังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ ธปท. ต้องจับตามองต่อเนื่อง โดย ธปท. อาจมีการปรับเปลี่ยนมุมมองในกรณีที่เหตุการณ์ในต่างประเทศมีการยกระดับความรุนแรง เช่น NATO เข้าร่วมสงคราม หรือจีนให้ความช่วยเหลือรัสเซียจนถูกคว่ำบาตรไปด้วย 

 

“ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังมีอยู่ ในกรณีที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่อราคาน้ำมันจะยิ่งรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจไทยที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมันต่อ GDP สูงจะถูกกระทบมากขึ้น อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ หากรัสเซียผิดนัดชำระหนี้จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อะไรตามมาบ้าง” ปิติกล่าว

 

สำหรับประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ปิติเชื่อว่า จะมีผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด เมื่อพิจารณาจากเสถียรภาพทางการเงินของไทยที่มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศน้อย มีเงินทุนสำรองสูง และการที่ภาคธุรกิจไทยมีการระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ระดมทุนผ่านเงินฝากในประเทศเป็นส่วนใหญ่ 

 

“จริงอยู่ที่ Yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยที่มีการปรับขึ้นตามพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ไปค่อนข้างเยอะแล้ว แต่หากดูในกลุ่มพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-3 ปีที่มีความสำคัญต่อการกู้ยืมของไทยจะพบว่า ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามสหรัฐฯ นอกจากนี้ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้พึ่งพานักลงทุนต่างชาติมาก ทำให้ผลกระทบ หรือ Spillover ที่เกิดขึ้นจะไม่เท่าประเทศอื่น” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวอีกว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในตอนนี้อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่จุดก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดต้องล่าช้าออกไปอีกราว 1 ไตรมาส จากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่จุดดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า

 

ขณะเดียวกันยังยอมรับว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าและยังมีปัญหาเรื่องการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมากและมีสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคบริการสูง 

 

“ข้อดีของโควิดคือ ทำให้เรารู้ว่าการพึ่งพาภาคใดภาคหนึ่งมากเกินไปมีความเสี่ยง ทำให้หลังจากนี้เราต้องปรับตัว ปรับโครงสร้าง และเปลี่ยนโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาและไม่ง่าย เพราะการจะถ่ายแรงงานจากภาคหนึ่งไปสู่อีกภาคหนึ่งต้องทำเรื่องรีสกิลด้วย” ปิติกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising