×

ธปท. เตรียมออกประกาศให้สถาบันการเงินทบทวนการคิดค่าธรรมเนียม 300 รายการในไตรมาสนี้ เผยปัจจุบันมีลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือแล้ว 4.9 ล้านบัญชี

21.07.2021
  • LOADING...
Bank of Thailand

ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะมีการออกประกาศแนวปฏิบัติการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบภายในไตรมาสที่ 3 นี้ เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินใช้ทบทวนสำหรับการกำหนดค่าธรรมเนียมกับผู้ใช้บริการให้สมเหตุสมผลและเป็นธรรมมากขึ้น

 

โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวจะครอบคลุมค่าธรรมเนียมราว 300 รายการ ในทุกกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงิน ทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย

 

“ประกาศของ ธปท. จะไม่กำหนดว่ารายการ A จะต้องคิดค่าธรรมเนียมเท่าไรแบบตายตัว แต่เราจะมีหลักการให้สถาบันการเงิน 7-8 ข้อ คล้ายๆ เป็น Market Conduct เพราะต้นทุนของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน แต่เราจะกำหนดให้ทุกสถาบันการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียมบนเว็บไซต์ของ ธปท. เพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบได้ ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็น Peer Pressure กดดันให้สถาบันการเงินควบคุมตัวเองจากการแข่งขัน” ธัญญนิตย์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ธัญญนิตย์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันที่ค่าธรรมเนียมในบางรายการอาจถูกกำหนดในอัตราที่ตายตัวหาก ธปท. เล็งเห็นว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่แตกต่างกันและต้นทุนการดำเนินงานไม่มีผลกระทบ

 

“การนำข้อมูลค่าธรรมเนียมขึ้นบนเว็บไซต์ของ ธปท. ทยอยขึ้นเป็นเฟสๆ ช่วงแรกอาจจะโฟกัสที่ค่าธรรมเนียม 20 รายการ ที่เป็น Pain Point ซึ่งถูกผู้ใช้บริการร้องเรียนบ่อยๆ ก่อน” ธัญญนิตย์กล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ยังเปิดเผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ของ ธปท. โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า มีลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือแล้ว 4.9 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินหนี้รวม 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อรายใหญ่ 2,060 ราย คิดเป็นวงเงินหนี้ 6 แสนล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 5 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินหนี้รวม 1 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 4.4 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินหนี้รวม 1.6 ล้านล้านบาท

 

โดยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยสามารถแยกย่อยได้เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 3.4 ล้านบัญชี วงเงินหนี้รวม 8 แสนล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินหนี้รวม 6 แสนล้านบาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 4 แสนบัญชี วงเงินหนี้รวม 2 แสนล้านบาท

 

ธัญญนิตย์ระบุว่า ธปท. มีความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นของไทยจนขึ้นไปแตะระดับ 90.5 ของจีดีพีในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้คนมีรายได้ลดลง โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีตั้งแต่การลดเพดานดอกเบี้ย มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 1-2-3 การเร่งรัดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถการชำระของลูกหนี้ การลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระและการปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ไปจนถึงการหาช่องทางไกล่เกลี่ยให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระผ่านคลินิกแก้หนี้และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้

 

“แต่เราจะไม่หยุดแค่นี้ ในอนาคตเรายังมีแผนจะทำอีก 4 เรื่อง คือ

  1. ทำโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลเครดิตที่ครอบคลุมเจ้าหนี้ที่อยู่นอกเหนือเครดิตบูโรเข้ามาด้วย อาทิ กลุ่มสหกรณ์
  2. ผลักดันให้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ส่งเสริมให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว
  3. ให้ความรู้และคำแนะนำการบริหารหนี้แบบครบวงจรกับผู้บริโภค และ
  4. ส่งเสริมให้เกิดช่องทางการกู้ยืมรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมในระบบ อาทิ P2P Lending” ธัญญนิตย์กล่าว

 

สำหรับความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ออกไปเกินกว่า 2 เดือนนั้น ธัญญนิตย์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่มาตรการดังกล่าวอาจถูกขยายออกไปเช่นกัน อย่างไรก็ดี อยากเน้นย้ำว่าวัตถุประสงค์ของการพักชำระหนี้นั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนชั่วคราวและไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะดอกเบี้ยปกติและดอกเบี้ยพักชำระยังเดินต่อ

 

“การแก้ปัญหาระยะยาวแบบยั่งยืน ธปท. ต้องการเร่งให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละรายมากกว่า อาทิ การปรับหนี้บัตรเครดิตมาอยู่ในรูปแบบ Term Loan ที่ดอกเบี้ยถูกกว่า เพราะโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน สิ่งที่ถูกต้องและควรทำคือการปรับโครงสร้างหนี้ ให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน” ธัญญนิตย์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising