×

แบงก์ชาติเตรียมหั่น GDP ปีนี้ หลังส่งออกทรุด-นักท่องเที่ยวใช้จ่ายไม่เข้าเป้า มองนโยบายแจกเงินดิจิทัลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า

31.08.2023
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. เตรียมปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ หลังส่งออกทรุด ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้าเป้า มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้แรงหนุนเพิ่มจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ใช้เม็ดเงินถึง 3% ของ GDP

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท. จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปีนี้ลงจาก 3.6% จาก 2 ปัจจัยหลัก คือตัวเลขส่งออกที่ชะลอตัวมากกว่าคาดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลดีของภาคการท่องเที่ยวที่มีต่อภาคเศรษฐกิจจริง หรือ Real Sector ที่ยังมีน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้สูงมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางระยะสั้น (Short Haul)

 

สำหรับประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีความชัดเจนแล้ว ธปท. มองว่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่จะไม่ได้ส่งผลบวกโดยตรงต่อเศรษฐกิจในแง่ของการกระตุ้นจากภาครัฐมากนัก เนื่องจากการจัดทำงบประมาณยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

 

“ตัวเลข GDP ปีนี้เราคงปรับลงพอสมควร จาก 2 ปัจจัยข้างต้น ประกอบกับตัวเลข GDP จริงในไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์ ก็ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ในระดับหนึ่ง แต่โมเมนตัมในระยะข้างหน้าของเศรษฐกิจไทยก็ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่วนนโยบายของรัฐบาลใหม่จะไปส่งผลดีในปีหน้า” สักกะภพกล่าว

 

ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะมีเครื่องยนต์ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากภาคการท่องเที่ยวที่จะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกและแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ ทำให้มีโอกาสสูงที่ GDP ปีหน้าจะขยายตัวได้แรงกว่าในปีนี้

 

เมื่อถามถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร สักกะภพระบุว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ ธปท. ได้จัดทำฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เอาไว้ ซึ่งรวมถึงฉากทัศน์ที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย โดยในส่วนของนโยบายแจกเงินดิจิทัลคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของ GDP ซึ่งแน่นอนว่าการมีเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่จะดีแค่ไหนคงต้องขึ้นอยู่กับการหมุนของเงิน หรือ Multiplier Effect ว่าจะเกิดขึ้นกี่รอบ

 

“ถ้าหมุนหนึ่งรอบก็จะช่วยได้ 3% แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นเงินโอนจะได้ผลที่น้อยกว่า ส่วนเรื่องเทคนิคการแจกขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูด คงต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ก่อน แต่มาตรการภาครัฐก็ไม่ได้มีแค่นโยบายนี้อย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การลดค่าครองชีพด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องดูในฝั่งของรายรับเทียบกับรายจ่ายของภาครัฐด้วย” สักกะภพกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X