×

‘เศรษฐพุฒิ’ มองภาพรวมเงินเฟ้อไม่น่ากังวล แต่ห่วงซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน เชื่อเครื่องมือ ธปท. เพียงพอดูแลเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่สะดุด

11.01.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศหลังจากที่สินค้าในบางหมวด เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ เริ่มมีการปรับขึ้นราคาว่า ในแง่มหภาค ธปท. ยังคงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 1.7% และลดลงเหลือ 1.4% ในปี 2566 ทำให้ภาพรวมเงินเฟ้อจะยังไม่หลุดจากกรอบเงินเฟ้อด้านบนที่ 3% จึงไม่น่าห่วงมากนัก

 

“สัญญาณที่จะทำให้เงินเฟ้อหลุดจากกรอบ 3% เช่น การขยับของราคาสินค้าในตระกร้าคำนวณแบบวงกว้าง ไม่ใช่แค่เนื้อหมูหรือพลังงาน เรายังไม่เห็นการขยับราคาในส่วนนี้ ส่วนเงินเฟ้อที่เรียกว่า Second Round หรือรอบสอง ซึ่งปกติจะเชื่อมโยงกับการขึ้นค่าจ้างก็ยังไม่เห็นเช่นกัน นอกจากนี้การสอบถามผู้ประกอบการของ ธปท. ก็พบว่าส่วนใหญ่ยังมองว่าเงินเฟ้อจะไม่หลุดกรอบเช่นกัน ในมุมมหภาคเราจึงคิดว่าไม่น่ากังวล” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. กังวลมากกว่าประเด็นเรื่องเงินเฟ้อในเวลานี้คือผลกระทบในฝั่งหนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางอย่างทำให้ค่าครองชีพของคนสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของคนในบางอุตสาหกรรมยังไม่ปรับเพิ่มและยังไม่กลับไปสู่จุดก่อนเกิดโควิดด้วยซ้ำ ซึ่งในส่วนนี้อาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของคนกลุ่มนี้ยิ่งแย่และอาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเข้าไปอีก

 

“ธปท. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะไปสู่จุดก่อนเกิดโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 แต่กว่าที่รายได้ของคนในอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว จะกลับมาเท่าก่อนโควิดอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น จุดนี้จึงต้องจับตาดูต่อไป โดย ธปท. ก็ไม่ได้ชะล่าใจ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายหรืออาจมีนโยบายเพิ่มเติมหากความเสี่ยงในส่วนของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า โจทย์สำคัญที่สุดของ ธปท. ปีนี้คือการดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างไม่สะดุด โดยเงินเฟ้อถือเป็น 1 ใน 4 ความเสี่ยงที่ ธปท. มองว่าอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของไทยมีโอกาสสะดุด ส่วนความเสี่ยงอีก 3 ด้านที่เหลือประกอบด้วย 

 

1. ความเสี่ยงจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้ ธปท. ยังประเมินว่าการระบาดน่าจะอยู่ในลักษณะ ‘มาเร็ว ไปเร็ว’ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแค่ในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดคงมีไม่มาก เพราะการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่การระบาดยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีหลังหรือเกิดการกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะรุนแรงขึ้น เพราะท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามคาด ซึ่งปัจจุบัน ธปท. ยังมองว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะยังอยู่ที่ 5.6 ล้านคน แต่จากสถิติในอดีตจะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคนจะมีผลกระทบต่อ GDP ราว 0.3-0.4%

 

2. ความเสี่ยงจากปัญหา NPLs Cliff หรือหน้าผาหนี้เสีย ซึ่งในประเด็นนี้ ธปท. ยังประเมินว่าตัวเลข NPLs ในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การเพิ่มขึ้นจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่การตกหน้าผา เนื่องจาก ธปท.ยังมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยดูแลไม่ให้หนี้เสียส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ การออกเกณฑ์ใหม่ในเรื่องการร่วมทุนระหว่างธนาคารกับ AMC นอกจากนี้ BIS Ratio ของธนาคารในระบบก็ยังมีความเข้มแข็ง

 

3. ความเสี่ยงจากโลก เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยและการดูดสภาพคล่องกลับของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยในส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศเชื่อว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าชาติอื่นที่เป็นกลุ่ม EM เนื่องจากไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อย หนี้ต่างประเทศน้อย ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และการลงทุนของต่างชาติในตลาดบอนด์และหุ้นไทยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับชาติอื่น

 

สำหรับการชะลอตัวของจีนก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในระดับที่รับได้ เพราะในระยะหลังจีนหันไปเน้นการเติบโตในประเทศ ความเชื่อมโยงหลักระหว่างไทยและจีนจะอยู่ที่การท่องเที่ยว ซึ่ง ธปท. ไม่ได้ประเมินว่าจีนจะเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยได้ในปีนี้อยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอให้เศรษฐกิจไทยสะดุดได้เช่นกัน

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นกับมาตรการและเครื่องมือทางการเงินที่ ธปท. ได้เตรียมรองรับเอาไว้ ทั้งในส่วนที่เป็นการแก้หนี้เดิมและเติมสภาพคล่องใหม่ ธปท. ยังเชื่อว่ามีความเพียงพอจะรับมือกับความเสี่ยงและดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ให้สะดุดได้ 

 

“นโยบายและมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. จะโฟกัสในเรื่อง Implementation และ Execution ไม่เน้นสีสันหรือความเยอะ ออกมาแล้วต้องทำได้จริง ซึ่งเราให้เป้ากับธนาคารพาณิชย์ไปและมีระบบติดตาม ขณะเดียวกันนโยบายของเราก็มีความยืดหยุ่นด้วย ณ เวลานี้เราอาจมองอย่างนี้ แต่ถ้าในอนาคตความเสี่ยงเปลี่ยนไปเราก็พร้อมปรับ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising