×

ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบาย ใครได้ ใครเสีย และส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

โดย SCB WEALTH
08.08.2019
  • LOADING...
ดอกเบี้ยนโยบาย

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงตามสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งส่งผลดีต่อรัฐบาลและภาคธุรกิจ ในแง่ที่ทั้งคู่มีการระดมทุน (กู้เงิน) ผ่านการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ 
  • เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก ตามอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ดังนั้น ผลกระทบต่อประชาชนจึงมี 2 ทางคือ หากเป็นผู้ที่มีเงินกู้ หรือกำลังจะกู้เงิน ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ในแง่ผู้ฝากเงินก็จะเสียประโยชน์ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็จะถูกปรับลดเช่นกัน
  • สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบในทางบวกก็คือธุรกิจเกี่ยวกับเช่าซื้อ และ การเงินส่วนบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือ ออกหุ้นกู้ ส่งผลให้ต้นทุนทางเงินลดลง ในขณะที่ฝั่งของการปล่อยสินเชื่อจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้คงที่ (ไม่ได้เปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด) ดังนั้น จึงทำให้กำไรมีแนวโน้มดีขึ้น

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ตลาดการเงินไทยไม่น้อย เมื่อ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.50% โดยให้มีผลทันที 

 

หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นข่าวใหญ่ และจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่ 

 

หากอธิบายในแง่มุมเศรษฐศาสตร์ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. จะมีผลต่อเนื่องไปใน 2 ช่องทางหลักๆ คือ

 

ผลกระทบที่ 1 กระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ที่จะปรับตัวลดลงตามในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อรัฐบาลและภาคธุรกิจ ในแง่ที่ทั้งคู่มีการระดมทุน (กู้เงิน) ผ่านการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ดังนั้น การที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรหรือหุ้นกู้ลดลงก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ ช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนหรือกำไรสุทธิ (ผู้เขียนขออนุญาตไม่กล่าวถึงผลกระทบในเรื่องการซื้อ-ขายพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ในตลาดรอง เพราะมีความซับซ้อน)

 

ผลกระทบที่ 2 กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก ตามอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ดังนั้น ผลกระทบต่อประชาชนจึงมี 2 ทางคือ หากเป็นผู้ที่มีเงินกู้หรือกำลังจะกู้เงินก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ในแง่ผู้ฝากเงินก็จะเสียประโยชน์ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็จะถูกปรับลดเช่นกัน ทั้งนี้รวมไปถึงสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อด้วย เช่น ลีสซิ่ง เป็นต้น เพราะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางของธนาคารพาณิชย์เช่นกัน

 

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ทาง ธปท. คาดหวังจากการลดอัตราดอกเบี้ยคือ เป็นการสร้างโอกาสให้มีการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้น หากนักธุรกิจหรือผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นก็จะทำให้สินเชื่อมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

 

ผลกระทบที่กล่าวไปข้างต้นเป็นผลกระทบในด้านผู้กู้หรือฝากเงิน แล้วผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางล่ะเป็นอย่างไรบ้าง (วานนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 2% ในทางตรงข้าม ราคาหุ้นกลุ่มการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.5% หลังทราบผลการประชุน กนง.)

 

สำหรับกรณีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.75% มาที่ 1.50% มีโอกาสจะเกิดผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ได้ใน 2 กรณี ดังนี้

 

กรณี Parallel Cut โดยธนาคารปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ลงในระดับเดียวกัน 0.25% (ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่าเดิม) จะส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารลดลงมากกว่า ดอกเบี้ยที่ธนาคารต้องจ่ายให้ผู้ฝาก สรุปง่ายๆ เลยคือ รายจ่ายลดลง แต่รายได้ลดลงมากกว่า

 

กรณี Neutral Cut โดยธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125% และดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% (ดอกเบี้ยเงินฝากออม ทรัพย์เท่าเดิม) ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง แต่ในกรณีนี้จะกระทบกับรายได้ของธนาคารน้อยกว่ากรณีแรก ส่งผลลบต่อผลประกอบการของธนาคารน้อยลง

 

ในด้านสถาบันทางการเงินอื่นๆ เช่น บริษัทประกันชีวิตจะได้รับผลกระทบในทางลบจากการปรับดอกเบี้ยลงในแง่ที่บริษัทประกันชีวิตจะได้รับผลกระทบเนื่องจากกรมธรรม์ที่ออกให้กับทางลูกค้าไปแล้ว จะกำหนดผลตอบแทนไว้ตายตัว แต่ในด้านการเอาเบี้ยประกันมาหาผลตอบแทนผ่านการลงทุนไม่ได้ตายตัว และข้อบังคับจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. สัดส่วนที่บริษัทประกันชีวิตจะลงทุนได้คือ ตราสารหนี้ 85% ตราสารทุน 15% (สามารถลงทุนในต่างประเทศได้) ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยไทยรวมถึงตลาดโลกปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้บริษัทประกันชีวิตหาผลตอบแทนได้ยากขึ้น

 

ส่วนสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบในทางบวกก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับเช่าซื้อ และการเงินส่วนบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือออกหุ้นกู้ ส่งผลให้ต้นทุนทางเงินลดลง ในขณะที่ฝั่งของการปล่อยสินเชื่อจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้คงที่ (ไม่ได้เปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด) ดังนั้น จึงทำให้กำไรมีแนวโน้มดีขึ้น ลองนึกง่ายๆ ถึงเวลาเราผ่อนรถก็ได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising