×

เศรษฐพุฒิ แจงส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักทำบาทอ่อน ชี้ทุนสำรองฯ หดเกิดจากดอลลาร์แข็ง ไม่ได้แทรกแซงหนัก

22.07.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ระบุ ค่าเงินบาท อ่อนเพราะดอลลาร์แข็ง ส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ทุนไหลออก ชี้ทุนสำรองฯ ไทยหดเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางมูลค่าสินทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ยันเสถียรภาพไทยแกร่งห่างไกลซ้ำรอยวิกฤตปี 40

 

ค่าเงินบาทในวันนี้ (22 กรกฎาคม) ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 36.86 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา

 

ล่าสุด เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการชี้แจงถึงสถานการณ์เงินบาทกับสื่อมวลชนในงาน Meet the Press โดยระบุว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งส่งผลต่อเป็นลูกโซ่ทำให้เงินบาทอ่อน แบงก์ชาติต้องเข้าแทรกแซงทำให้เงินทุนสำรองลดลง ทำให้เสถียรภาพทางการเงินของไทยเปราะบางคล้ายช่วงวิกฤตปี 40 ซึ่งไม่เป็นความจริง

 

ผู้ว่า ธปท. ชี้แจงว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อเงินทุนไหลออก แต่ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยหากนับจากต้นปีที่ผ่านมา ไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐฯ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย ยังเผชิญเงินทุนไหลออกที่ 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 3 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ 

 

“ประเทศที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 5 ครั้งอย่างเกาหลีใต้ก็ยังมีปัญหาค่าเงินอ่อนกว่าไทย เงินบาทอ่อนค่าจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเป็นหลักในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ไทยมีเงินทุนไหลเข้าเงินบาทก็ยังอ่อนค่า ส่วนต่างดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้บาทอ่อนเหมือนที่มีการเข้าใจผิดในเวลานี้” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

เศรษฐพุฒิยังชี้แจงถึงตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ปรับลดลงราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์นับจากต้นปีว่า สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของ ธปท. แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation) ของเงินทุนสำรองฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น รวมถึงทองคำที่มีมูลค่าลดลงราว 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

 

ผู้ว่า ธปท. ระบุอีกว่า ปัจจุบันไทยยังมีเงินทุนสำรองฯ อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 51% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ขณะที่เสถียรภาพการเงินของไทยก็มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมากจากปี 2540 เห็นได้จากสัดส่วนเงินทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นปัจจุบันที่สูงถึง 2.6 เท่า และเงินทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าการนำเข้าที่สูงถึง 9.6 เท่า ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

 

“สถานการณ์ของเราตอนนี้ต่างจากช่วงวิกฤตปี 40 สิ้นเชิง ย้อนไปตอนนั้นเรามีเงินทุนสำรองฯ เพียง 9 พันล้านดอลลาร์ ทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าการนำเข้าติดลบ ดังนั้นการไปพูดว่าเงินทุนสำรองฯ เราลดลงจะกระทบเสถียรภาพการเงินจนเกิดวิกฤตแบบปี 40 จึงไม่เป็นความจริง” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

เศรษฐพุฒิระบุว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในเวลานี้ไม่ถือว่าน่ากังวล เพราะเป็นการอ่อนค่าตามกลไกตลาด ไม่ได้เกิดจากแรงเก็งกำไร ขณะเดียวกัน การที่ไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งระดับทุนสำรอง หนี้ต่างประเทศที่ต่ำ แนวโน้มเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว ก็น่าจะทำให้เงินบาทไม่ตกเป็นเป้าโจมตี 

 

“เรายังมองว่าเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ใช่ความเสี่ยงที่จะกระทบเสถียรภาพจนทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยสะดุด บาทอ่อนอาจจะไปซ้ำเติมในมุมเงินเฟ้อผ่านการนำเข้าสินค้ามากกว่า แต่การที่ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวไม่มีเป้าอัตราแลกเปลี่ยน เราก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพียงแต่บางจังหวะเราก็ต้องเข้าไปดูแลให้การปรับเปลี่ยนไม่เร็วเกินไปจนคนปรับตัวไม่ทัน” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. ยังระบุอีกว่า อยากเห็นภาคธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าค่าเงินในระยะข้างหน้ามีโอกาสแกว่งตัวแรงหรือกลับทิศได้เมื่อเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ถึงจุดพีค ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นอารมณ์ของตลาดจะเปลี่ยนไป อาจกังวลเงินเฟ้อน้อยลง และมองว่า Fed เหยียบเบรกแรงเกินไปหรือเปล่า ทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงเร็ว การป้องกันความเสี่ยงเอาไว้จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนได้

 

“ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาดเล็กยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งขณะนี้ ธปท. ก็อยู่ระหว่างหาแนวทางที่จะช่วยให้การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทำได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลง” เศรษฐพุฒิระบุ

 

นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังระบุถึงแนวทางการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของไทยว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากบริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในสหรัฐฯ และยุโรปที่เศรษฐกิจฟื้นตัวรุนแรง ทำให้โจทย์ของธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นคือการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว

 

“โจทย์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้การปรับนโยบายหรือการขึ้นดอกเบี้ยของเราจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องทำอย่างยืดหยุ่น เหมาะสม ถามว่าเรา Behind the Curve หรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ เพราะบริบททางเศรษฐกิจต่างกัน” เศรษฐพุฒิระบุ

 

ผู้ว่า ธปท. ย้ำว่า การปรับดอกเบี้ยของไทยจะต้องไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป เพราะถ้าเร็วเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ขณะเดียวกันหากขึ้นช้าเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์เงินเฟ้อ ตลาดอาจมองว่า ธปท. ไม่มีความมุ่งมั่น หรือ Commitment ในการดูแลเงินเฟ้อ ทำให้เงินเฟ้อวิ่งสูงขึ้นอีก

 

ขณะเดียวกันการปรับนโยบายก็จะต้องทำอย่างยืดหยุ่นและเหมาะสม โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นแบบกว้างและปูพรม เช่น การยืดหนี้ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และการห้ามธนาคารพาณิชย์ปันผล ได้ทยอยถูกถอดออกไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของนโยบายให้ความช่วยเหลือที่ ธปท. มองว่ายังมีความจำเป็นต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ต่างๆ จะยังคงเก็บไว้

 

“มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้จะมีอยู่ถึงเดือนเมษายนปีหน้าเป็นอย่างน้อย เมื่อถึงตอนนั้นถ้าเรามองว่า SMEs หรือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่ดีพอ หากจำเป็นต้องต่อมาตรการเราก็จะต่อ เราประเมินว่าด้วยเครื่องมือและช่องทางต่างๆ ที่เรามีอยู่ในขณะนี้เพียงพอจะช่วยกลุ่มเปราะบางได้ แต่เราต้องบริหารจัดการและนำมาใช้ให้เต็มที่” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X