ธปท. ลั่นไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV หลังครบกำหนด 31 ธันวาคมนี้ เหตุภาคอสังหาฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ยันไม่กระทบผู้มีรายได้น้อยกู้ซื้อบ้าน หวั่นผ่อนปรนนานไปเพิ่มความเสี่ยงให้หนี้ครัวเรือน ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลัง เตรียมพิจารณาการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในปีนี้
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะไม่ต่ออายุการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) ซึ่งจะครบกำหนดการผ่อนคลายชั่วคราวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เนื่องจากมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันเริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดแล้ว ทำให้มาตรการ LTV มีความจำเป็นน้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ มีผลวันที่ 29 กันยายน
โดยข้อมูลล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม 2565) พบว่ามียอดการโอนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 8.5% ขณะที่มียอดเปิดโครงการใหม่ราว 9,000 ยูนิตต่อเดือน ใกล้เคียงกับในช่วงต้นปี 2562 ที่ 9,300 ยูนิตต่อเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด
ชญาวดีระบุว่า การไม่ต่ออายุดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากส่วนใหญ่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยมากกว่า 86% ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถขอสินเชื่อบ้านอยู่ในระดับสูงเต็ม 100% ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี อาจจะกระทบลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูง หรือราคาบ้านสูงกว่า 10 ล้านบาทเล็กน้อย เนื่องจากต้องวางเงินดาวน์เพิ่มเติมบางส่วนประมาณ 10-20%
“เรามองว่าหากขยายระยะเวลาการผ่อนคลายต่อไป อาจเอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินในระยะข้างหน้าได้ เช่น การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์โดยผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง และส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น เมื่อบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เราจึงปรับนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป” ชญาวดีกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ธปท. ได้ประกาศผ่อนคลายการใช้มาตรการ LTV ชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2565 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และพยุงการจ้างงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะซบเซาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ซึ่ง ธปท. ประเมินว่า หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่กลับไปเท่ากับระดับก่อนวิกฤตจนกระทั่งปี 2568
โดยสาระสำคัญของการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. มีดังนี้
1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี
- มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ
- กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป
2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2565
คลังเผยกำลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง
ด้าน กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยในวันนี้ (31 ตุลาคม) ว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในปีนี้
“เราอยากดูภาพรวมทั้งหมดในทุกๆ เรื่อง โดยกำลังคุยกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง เนื่องจากค่าธรรมเนียมเหล่านี้ถือเป็นรายได้ของท้องถิ่น เพราะปีที่ผ่านมาในเรื่องของภาษีที่ดิน ท้องถิ่นมีรายได้อยู่พอสมควร” กฤษฎากล่าว
ทั้งนี้ มาตรการการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของประเทศ กำลังจะสิ้นสุดในปีนี้