×

ธปท. เคลียร์ปมแบงก์ ‘แฮร์คัตหนี้’ ย้ำไม่บังคับ แต่เน้นปรับโครงสร้างระยะยาวให้ผ่อนชำระแบบขั้นบันได

23.08.2021
  • LOADING...
Bank of Thailand

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สมาคมธนาคารไทยได้แสดงความกังวลถึงนโยบายของ ธปท. ที่จะส่งถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ย (Hair Cut) ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายอย่างรุนแรงของฐานะการเงินของสถาบันการเงินและจะเป็นการสร้างพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ (Moral Hazard) ว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด โดย ธปท. ได้มีการพูดคุยกับสมาคมธนาคารไทยแล้ว และขอยืนยันว่าการ Hair Cut ไม่ใช่มาตรการบังคับและไม่ใช่สิทธิ์ที่ลูกหนี้ทุกคนจะได้รับจากสถาบันการเงิน

 

“ความเข้าใจผิดอาจจะเกิดจากการพาดหัวข่าวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินเกิดความกังวล แต่เราได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าการ Hair Cut จะเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือหลายๆ ตัวที่สถาบันการเงินสามารถหยิบมาใช้ได้ให้เหมาะกับลูกหนี้แต่ละราย การปรับโครงสร้างหนี้คงไม่สามารถทำแบบ One Size Fits All ได้ ซึ่งเบื้องต้นสมาคมธนาคารก็เห็นด้วยกับนโยบายของ ธปท. ที่จะให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้แบบยั่งยืน เพราะการแก้ไขหนี้แบบชั่วคราว อาทิ การพักชำระหนี้ เป็นเพียงแค่การประวิงปัญหาออกไปข้างหน้า ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้อย่างแท้จริง” สุวรรณีกล่าว

 

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวอีกว่า ธปท. ตระหนักดีว่าการใช้มาตการ Hair Cut จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะจะก่อให้เกิด Loss กับสถาบันการเงินและอาจก่อให้เกิด Moral Hazard หรือการสร้างพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ ซึ่ง ธปท. เองก็ต้องดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน โดยรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ ธปท. อยากเห็นคือการปรับโครงสร้างระยะยาวที่ให้ชำระแบบหน้าต่ำหรือให้ผ่อนชำระน้อยๆ ในช่วงแรก แล้วค่อยๆ Step Up ในระยะต่อๆ ไปให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้

 

“หลังจากมีข่าวออกมา ธปท. กับสมาคมธนาคารไทยได้พูดคุยจนเข้าใจตรงกันแล้ว ซึ่งคาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน สำหรับเรื่องข้อเสนอของสมาคมธนาคารให้มีการติด Flag หรือใส่รหัสพิเศษให้กับลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้รับ Hair Cut ในสถานการณ์วิกฤตโควิด เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นทราบและพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ คงจะต้องมีการหารือกับเครดิตบูโรและสถาบันการเงินต่อไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายดังกล่าว” สุวรรณีกล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. ยังเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้

 

สุวรรณีระบุว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงหลังจากการกันสำรองในระดับสูงของปีก่อน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,038.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 20% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 851.5 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 152.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.7%

 

สินเชื่อแบงก์ไตรมาส 2 โตเล็กน้อย ส่วน ‘หนี้เสีย’ ขยับแตะ 3.09%

 

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวลดลงเล็กน้อยที่ 3.7% เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 จาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.6% เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 จากการเร่งใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนของปีก่อน ประกอบกับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ปรับดีขึ้นและขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนในไตรมาสนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และสินเชื่อฟื้นฟู

 

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 5.7% เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.3% โดยหลักจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่ยังปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวลดลง จากปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อนการล็อกดาวน์ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการสภาพคล่องในภาคครัวเรือน โดยบางส่วนเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อสวัสดิการ

 

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 545.5 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 6.34% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.42%

 

ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน 60.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีของก่อน 72.1% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงของปีก่อน ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ค่าธรรมเนียม

 

หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิที่ไม่รวมผลของรายการพิเศษปรับเพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.08% แต่หากตัดผลของรายการพิเศษ ROA จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.89% จากไตรมาสก่อนที่ 0.81%

 

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.46% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.43%

 


 

เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหารต้องดูก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022


📌
เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌
ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยโลก
📌
เทรนด์ผู้บริโภคการตลาด
📌
เคสจริงจากผู้บริหาร

 

พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น

 

ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising