ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงต่างประเทศสูง ขณะที่ต่างชาติให้ความสำคัญกับเสถียรภาพมาก ธปท. จึงต้องดำรงไว้ซึ่งความไว้วางใจ (Trust) และความน่าเชื่อถือ (Credibility) พร้อมยกตัวอย่างอังกฤษที่รัฐบาลเคยประกาศนโยบายการคลังที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีแผนงบประมาณรองรับที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นจึงหายไป ตลาดก็ตอบสนองอย่างรุนแรง
เปิดบทสัมภาษณ์ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวารสารพระสยาม BOT Magazine ในประเด็นเรื่อง ธปท. บนเวทีโลก ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ธปท. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยเศรษฐพุฒิระบุว่า การทำงานด้านต่างประเทศเป็นโจทย์ที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (Small and Open Economy) จึงมักได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัจจัยต่างประเทศ นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงภาคต่างประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ดังนั้น ธปท. ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งเสถียรภาพราคา ระบบสถาบันการเงิน ระบบชำระเงิน ไปจนถึงการดูแลค่าเงิน จึงต้องให้ความสำคัญกับการทำงานด้านต่างประเทศ
ความไว้วางใจ-ความน่าเชื่อถือ ‘จำเป็น’ ในการทำงานด้านต่างประเทศ
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังระบุว่า ความไว้วางใจ (Trust) และความน่าเชื่อถือ (Credibility) เป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำงานด้านต่างประเทศ ‘ไม่ได้ต่างจากการทำงานในประเทศ’
พร้อมทั้งย้ำว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กและเป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วเสียอีก เพราะโดยธรรมชาติคนก็มองว่าเศรษฐกิจของประเทศลักษณะนี้มีความเสี่ยงมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว “พูดง่ายๆ คือต่างชาติค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพของเรามาก เป๋เมื่อไรเขาก็พร้อมตอบสนองทันที”
“อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมพูดถึงบ่อยคือประเทศอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลประกาศนโยบายการคลังที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีแผนงบประมาณรองรับที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นจึงหายไป ตลาดก็ตอบสนองอย่างรุนแรง ลองนึกภาพว่านั่นคือประเทศอังกฤษ เศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยมาก ความน่าเชื่อถือที่ผ่านมาก็ค่อนข้างสูง และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ยังโดนหนักขนาดนี้ ดังนั้นสำหรับธนาคารกลาง การสร้างและรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจและความมั่นใจเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” เศรษฐพุฒิกล่าว
ย้ำต่างประเทศมอง ธปท. มีธรรมาภิบาล เป็นอิสระ
ในช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ระบุว่า ธรรมาภิบาลของ ธปท. ไม่ได้ด้อยกว่าต่างประเทศเลย โดยแก่นธรรมาภิบาลของธนาคารกลางคือความเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดด้วยว่าคุณมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
“ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีกรรมการทั้งหมด 7 คน ก็เป็นคนใน ธปท. 3 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน ขณะที่โมเดลของต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นคนในมากกว่าคนนอกเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่าเราค่อนข้างเปิดกว้างและรับฟังมากเลยทีเดียว และในแง่ของกระบวนการสรรหานั้น เราก็คัดเลือกกันค่อนข้างเข้มข้น ยากมากที่จะมีใครเข้ามาแทรกแซง ตรงนี้ก็ช่วยรับประกันความเป็นอิสระของ ธปท. ได้” เศรษฐพุฒิกล่าว
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่: