×

ธปท. ปรับเกณฑ์อุ้มลูกหนี้รายย่อย-SMEs เพิ่มวงเงินช่วยเหลือ-ลดค่าฟรีค้ำประกัน พร้อมขยายอายุมาตรการสำคัญจูงใจแบงก์

20.08.2021
  • LOADING...
Bank of Thailand

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานที่ลดลงส่งผลซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของธุรกิจและครัวเรือน

 

ดังนั้นเพื่อให้มาตรการทางการเงินช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้นในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 จึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การรักษาสภาพคล่อง เติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย และการแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง ดังนี้

 

ในส่วนแรกคือ การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs โดยขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมน้อยหรือยังไม่เคยมีวงเงิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ใหม่ ส่วนลูกหนี้เดิมจะขยายจาก 30% ของวงเงินเดิม (ไม่เกิน 150 ล้านบาท) เป็น 30% ของวงเงินเดิม (ไม่เกิน 150 ล้านบาท) หรือสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่ 30% ของวงเงินเดิมไม่ถึง 50 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและคงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวม โดยลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรกสำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่น

 

ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธปท. อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วรวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาท ได้ก่อนเดือนตุลาคม 2564 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 30,194 ราย เฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก (42.6%) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (67.5%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (68.5%) อย่างไรก็ดี ธปท. ประเมินว่าภาคธุรกิจยังมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

 

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่างๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และเห็นควรให้ขยายวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน ที่เดิมอาจไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ ธปท. จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดย

  1. ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จาก 1.5 เท่าของรายได้ เป็น 2 เท่าของรายได้
  2. คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตไว้ที่ 5% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565
  3. ขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาท และมีระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 12 เดือน

ทั้งนี้ การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป

 

สำหรับส่วนที่สองคือ การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์การระบาดมีความไม่แน่นอนสูง เดิม ธปท. คาดว่าจะควบคุมได้และคลี่คลายในเวลาไม่นาน ทำให้เน้นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราวหรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้นเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ปัญหาแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ รวมทั้งไม่ได้ทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้พูดคุยเพื่อประเมินสถานการณ์หรือหาทางแก้ไขที่จะช่วยให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง

 

ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธปท. จึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว และคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

  1. มองสถานการณ์ระยะยาว โดยกำหนดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา
  2. สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว
  3. ตรงจุดและให้เหมาะกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน
  4. เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน นอกจากนี้ ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (Moral Hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า เพื่อให้ความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอย่างได้ผลและรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

 

  1. สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs (ตามนิยามของสถาบันการเงิน) ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว

 

  1. การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืนด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่นๆ การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมถึงการลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

  1. การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ กนส. แล้ว โดยขั้นตอนจากนี้คือการออกประกาศโดย ธปท. ซึ่งคาดว่าจะทำได้ทั้งหมดภายในต้นเดือนหน้า มีเพียงการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ที่ต้องนำเสนอต่อ ครม. ก่อนออกประกาศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X