×

เส้นทาง Brexit ที่กลับตัวไม่ได้และอาจเดินไปไม่ถึงของบอริส จอห์นสัน

09.09.2019
  • LOADING...
Boris Johnson's Brexit Plan

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ช่วงเวลาเดือนเศษที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ต้องพบกับทั้งศึกในสภาผู้แทนราษฎรและแรงกดดันจากภาคประชาชนบางส่วนที่ไม่ต้องการให้สหราชอาณาจักรแยกตัวจาก EU แบบไร้ข้อตกลง 
  • ขณะที่ความพยายามในการแก้เกมของจอห์นสันอาจไปไม่ถึงในสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ เพราะมีแนวโน้มที่รัฐสภาอาจผ่านกฎหมายที่กำหนดให้เขาต้องขอเลื่อนเวลา Brexit กับสหภาพยุโรป เพื่อขยายเวลาเจรจาทำข้อตกลง
  • การลาออกของรัฐมนตรีคนสำคัญอย่าง โจ จอห์นสัน ซึ่งเป็นน้องชายของบอริส และแอมเบอร์ รัดด์ ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับรัฐบาลของจอห์นสัน โดยสะท้อนให้เห็นความแตกแยกภายในรัฐบาล รวมถึงแสดงให้เห็นว่าเขามีผู้สนับสนุนน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นในการสิ้นสุดของรัฐบาล

นับตั้งแต่ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่การเมืองอังกฤษมีความร้อนแรงและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการชิงไหวชิงพริบและเดินหมากทางการเมืองเพื่อจัดการเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

 

จอห์นสันเข้ารับตำแหน่งในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศอังกฤษ สืบต่อจาก เทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีหญิงผู้ไม่อาจผลักดันให้แผนการและข้อตกลงในการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit Deal) สำเร็จลุล่วงได้ และทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งว่าอนาคตของประเทศอังกฤษจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

แต่จากช่วงเวลาเพียงเดือนเศษที่ผ่านมา จอห์นสันต้องพบกับทั้งศึกในสภาผู้แทนราษฎร ศึกในรัฐบาลของเขา และแรงปะทะ แรงวิจารณ์จากสังคมและประชาชนโดยทั่วไปด้วย หรืออาจเรียกได้ว่าเส้นทางที่เขาจะนำพาประเทศอังกฤษนั้นไม่ได้เรียบง่ายหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหานานาประการ อันกลับตัวไม่ได้และอาจไปไม่ถึงในสิ่งที่เขาตั้งใจไว้

 

Boris Johnson's Brexit Plan

 

สถานการณ์ Brexit ในปัจจุบัน

สำหรับสถานการณ์ของ Brexit ในขณะนี้นั้น ตามกำหนดเวลาที่เคยตกลงกันไว้ การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษจะมีผลในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เกี่ยวกับข้อตกลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปในอนาคต ทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุน รวมไปถึงการนำเข้าส่งออกสินค้าและการเดินทางระหว่างกัน

 

ปัญหาสำคัญ ณ ขณะนี้คือ อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในลักษณะใด ซึ่งแนวทางของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันในเรื่อง Brexit นั้นต่างจากทั้งแนวทางของอดีตนายกรัฐมนตรีเมย์ หรือแนวทางของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการจะให้มีข้อตกลง Brexit ระหว่างกัน (ซึ่งก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่อง Brexit Deal) โดยจอห์นสันมีความเห็นว่าควรจะเป็น No-deal Brexit หรือการถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ กับสหภาพยุโรป

 

จอห์นสันมองว่า การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษนั้นนอกจากจะทำให้อังกฤษไม่มีอิสระอย่างที่ควรจะเป็นและต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปแล้ว อังกฤษยังจะต้องสูญเสียงบประมาณและเสียเปรียบทางเศรษฐกิจการค้าด้วย เขาจึงเป็นแกนนำคนสำคัญในการลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (Vote Leave) เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

 

ศึกแรกของจอห์นสันในสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้นแล้วจากความคิดดังกล่าว จอห์นสันจึงพยายามที่จะผลักดันให้เกิด No-deal Brexit ขึ้นให้ได้ และดังที่ทราบกันว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาพยายามใช้วิธีการปิดประชุมสภา (Prorogation of Parliament) ที่มีเวลายาวนานกว่าปกติในการที่จะปิดโอกาสไม่ให้สมาชิกสภามีเวลาในการอภิปรายหรือลงมติในข้อตกลงใดๆ เกี่ยวกับ Brexit ได้ทันก่อนถึงกำหนดเส้นตาย และจะทำให้เกิด No-deal Brexit ในที่สุด

 

แม้การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อกังขาและถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากถึงความชอบธรรมและความเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ต้องทรงเข้ามาเกี่ยวพันในเรื่อง Brexit ด้วย

 

เนื่องจากการปิดประชุมสภาเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ (Royal Prerogative Power) โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิเสธคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตยและไม่ให้ประเทศชาติเกิดความวุ่นวายจาก No-deal Brexit

 

แต่สุดท้ายแล้วการปิดประชุมสภาก็สามารถกระทำได้ เพราะสมเด็จพระราชินีนาถทรงยึดมั่นในหลักการตามรัฐธรรมนูญอังกฤษที่จะทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด ด้วยทรงเป็นเพียงประมุขหรือสัญลักษณ์ โดยมีการปิดประชุมตามช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ อันจะทำให้สภาจะเปิดประชุมได้อีกทีในวันที่ 14 ตุลาคม หรือจะมีเวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการดำเนินการ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการผลักดัน Brexit Deal ให้เกิดขึ้นได้

 

Boris Johnson's Brexit Plan

 

การแก้เกมของรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

แม้แผนการปิดประชุมสภาของเขาจะประสบความสำเร็จและมองเห็นถึงชัยชนะทางการเมืองอยู่เบื้องหน้า แต่สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามเมื่อพรรคฝ่ายค้านได้เสนอร่างกฎหมายให้มีการเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปอีก 3 เดือนจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2020 หรือเป็นกฎหมายที่ป้องกันมิให้เกิด No-deal Brexit (a bill to block a No-deal Brexit) และปรากฏว่ามีสมาชิกสภาจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative Party) ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลได้แปรพักตร์ไปลงคะแนนเสียงให้กับฝ่ายค้านถึง 21 คน ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและกำลังอยู่ในขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย

 

หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะเป็นการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีจอห์นสันจะต้องไปเจรจาขอเลื่อนกำหนดเส้นตายกับสหภาพยุโรป เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการทำ Brexit Deal ขึ้น แต่นั่นเท่ากับเป็นการปิดโอกาสที่จะเกิด No-deal Brexit ตามที่เขาคาดหวังไว้

 

จอห์นสันจึงแก้เกมทางการเมืองด้วยการเสนอให้จัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด (Snap Election) เพื่อให้เขามีเสียงสมาชิกสภาสนับสนุนเพียงพอในการผลักดัน No-deal Brexit แต่การจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อันมีผลเท่ากับเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตามกฎหมายอังกฤษแล้ว อำนาจดังกล่าวไม่ใช่อำนาจโดยเฉพาะของนายกรัฐมนตรี หากแต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาด้วยคะแนนเสียงสองในสาม

 

จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ทำให้จอห์นสันต้องมีสมาชิกสภาสนับสนุนข้อเสนอของเขาจำนวน 434 คน แต่เนื่องจากสมาชิกสภาส่วนใหญ่เกรงว่าการจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดเส้นตายเพียงไม่กี่วัน และยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการเลื่อนเวลาออกไปหรือไม่ อาจทำให้อังกฤษต้องประสบกับวิกฤต จึงทำให้ในการลงคะแนน ปรากฏว่ามีสมาชิกลงคะแนนเสียงสนับสนุนเพียง 298 คน ทำให้การจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้จอห์นสันต้องตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก โอกาสที่จะเกิด No-deal Brexit อย่างที่ต้องการก็มีน้อยลง และหากกฎหมายให้เลื่อนกำหนดเส้นตายมีผลใช้บังคับ เท่ากับทำให้เขาต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อไปเจรจากับสหภาพยุโรป

 

ศึกภายในรัฐบาล

ถึงแม้ว่าจอห์นสันจะพ่ายแพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรถึงสองครั้งติดต่อกัน แต่กระนั้นเขาก็ยังคงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถึงขั้นประกาศว่า “เขานั้นยอมตายเสียดีกว่าต้องไปร้องขอให้สหภาพยุโรปเลื่อนกำหนดเวลา Brexit ออกไป” (…would ‘rather be dead in a ditch’ than ask the EU to delay Brexit)

 

ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวและดึงดันของจอห์นสันในการที่จะทำให้เกิด No-deal Brexit และการขับสมาชิกสภาจำนวน 21 คนที่ลงมติให้พรรคฝ่ายค้านออกจากพรรครัฐบาล ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากหลายฝ่าย รวมไปถึงจาก โจ จอห์นสัน (Jo Johnson) รัฐมนตรีและสมาชิกสภาพรรครัฐบาล ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งเขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่สามารถเลือกได้ระหว่างความภักดีต่อคนในครอบครัวหรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ (torn between family loyalty and the national interest.)

 

โจนั้นถือเป็นนักการเมืองที่เก่งกาจและได้รับการยอมรับ เขาเคยเป็นรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน และเคยถูกคาดหมายให้เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต การลาออกของเขาในครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แม้แต่น้องชายของเขายังเห็นแย้งและไม่สนับสนุน แล้วใครจะเป็นผู้สนับสนุนเขา แสดงให้เห็นว่า นโยบาย No-deal Brexit ย่อมจะเป็นไปได้ยากขึ้น

 

นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่า แอมเบอร์ รัดด์ (Amber Rudd) รัฐมนตรีในรัฐบาลของจอห์นสันก็ได้ประกาศลาออกตามโจ จอห์นสันไปอีกคน เนื่องจากเธอเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเตรียมการหรือดำเนินการอย่างจริงจังในการที่จะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่ในขณะเข้าร่วมรัฐบาล รัดด์ตั้งใจอย่างยิ่งในการทำให้เกิดการเจรจา แต่เธอกลับพบว่ามีความพยายามที่จะทำให้เกิด No-deal Brexit ขึ้น ประกอบกับเธอไม่เห็นด้วยกับการขับไล่สมาชิกพรรคทั้ง 21 คนออกจากพรรค เพียงแค่พวกเขามีความเห็นที่แตกต่างในเรื่อง Brexit

 

การลาออกของรัดด์ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับรัฐบาลของจอห์นสัน และยังทำให้เห็นถึงความแตกแยกในรัฐบาลของเขา รวมถึงแสดงให้เห็นว่าเขามีผู้สนับสนุนน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นในการสิ้นสุดของรัฐบาล

 

Boris Johnson's Brexit Plan

 

ข้อวิจารณ์และแรงโจมตีจากสังคม

นอกจากปัญหาในสภาผู้แทนราษฎรและในรัฐบาลแล้ว จอห์นสันยังต้องเผชิญกับกระแสสังคมหลายด้านที่โจมตีและวิจารณ์เขาอย่างหนักในการดำเนินนโยบาย Brexit

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนที่เขาเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ที่เมืองลีดส์ แม้จะมีผู้สนับสนุนเขาให้ดำเนินการ Brexit ตามกำหนดเดิม แต่เขาก็ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนบนท้องถนนที่เข้ามากล่าวต่อว่าเขาว่า “กำลังเล่นเกมการเมือง” “เขาควรไปเจรจาหาข้อตกลงที่บรัสเซลส์ (สถานที่ตั้งของสหภาพยุโรป) ไม่ใช่มาที่นี่” “แผนการเจรจาไปถึงไหนแล้ว” รวมไปถึงการบอกให้เขา “ไปจากเมืองนี้เสีย” อันแสดงให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนต้องการให้เขาดำเนินการหา Brexit Deal ให้เกิดขึ้น

 

นอกจากนั้นแล้วเขายังต้องถูกโจมตีจากการแถลงข่าวเกี่ยวกับ Brexit โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นยืนอยู่ด้านหลัง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในการใช้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือการส่งสัญญาณทางการเมืองใดๆ

 

ในสัปดาห์หน้าจอห์นสันจะเสนอให้มีการลงมติเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งต่อสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางการประกาศไม่เห็นชอบด้วยของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำให้มีแนวโน้มที่ข้อเสนอของเขาจะตกไปอีกครั้ง อันเป็นโอกาสสุดท้ายก่อนที่จะมีการปิดประชุมสภาตามที่เขาได้ประกาศไปก่อนหน้านี้

 

นอกจากนั้นแล้วคาดการณ์กันว่าร่างกฎหมายให้เลื่อนเวลา Brexit จะสามารถประกาศใช้ได้ในสัปดาห์หน้าเช่นกัน ซึ่งจะบังคับให้จอห์นสันต้องไปเจรจาอีกครั้ง และหากปรากฏว่าเขาไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนด พรรคฝ่ายค้านก็เตรียมการที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นด้วย และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ได้

 

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันในการนำประเทศอังกฤษไปสู่ No-deal Brexit ที่เขาได้ประกาศไว้อย่างแข็งกร้าว จนเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่ไม่อาจจะกลับตัวได้ และน่าติดตามว่าเขาจะหาทางแก้ไขสถานการณ์อย่างไรต่อไปเพื่อให้ไปถึงตามที่เขาประกาศไว้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X