×

นายกฯ อังกฤษ เรียกร้องทุกประเทศร่วมกันรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชี้ ‘โลกต้องเติบโตขึ้น’

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2021
  • LOADING...
บอริส จอห์นสัน

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวต่อผู้นำโลกในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่นิวยอร์กในวันพุธที่ผ่านมา (22 กันยายน) ว่า มนุษยชาติจำเป็นต้อง ‘เติบโตขึ้น’ และจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

จอห์นสันระบุว่า โลกตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศน้อยเกินไป และเรียกร้องให้มนุษยชาติ ‘ฟังคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์’ โดยชี้ไปที่การระบาดของโควิดว่าเป็น ‘ตัวอย่างอันมืดมนที่พิสูจน์ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์นั้นถูกต้อง’  

 

“เรายังคงยึดติดกับบางส่วนในจิตใจของเรากับความเชื่อในวัยเด็กที่ว่า โลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความพึงพอใจและความยินดีปรีดาของเรา” เขากล่าว “และเรารวมความหลงตัวเองนี้เข้ากับสมมติฐานในเรื่องความเป็นอมตะ

 

“เราเชื่อว่าคนอื่นจะเข้ามาช่วยขจัดความยุ่งเหยิงให้หมดไป เพราะนั่นคือสิ่งที่คนอื่นทำมาตลอด” เขากล่าวเสริม “เราทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของเราครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเราเชื่อเช่นนี้มาโดยตลอด และเรายังจะเชื่อเช่นนี้ต่อไปอีก

 

“สหายของผม วัยหนุ่มสาวของมนุษยชาติกำลังจะถึงกาลอวสาน และต้องถึงกาลอวสาน”

 

จอห์นสันเน้นย้ำถึงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ COP26 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ว่าเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำหรับมนุษยชาติ’ พร้อมทั้งระบุว่าผู้นำโลกจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการประชุม COP26 เพื่อทำตามคำมั่นสัญญา

 

นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า มัน ‘สายเกินไป’ แล้วที่จะหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก แต่โลกยังคงสามารถ ‘ยับยั้งการเติบโตนั้น’ ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN Intergovernmental Panel on Climate Change) เตือนว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้ความเสี่ยงจากภัยแล้งที่รุนแรง ไฟป่า น้ำท่วม และการขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) คาดการณ์ว่า ขณะนี้เรามีโอกาสประมาณ 40% ที่จะไปถึงระดับนั้นภายใน 5 ปีข้างหน้า 

 

เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส “เราจำเป็นต้องให้คำมั่นร่วมกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในช่วงกลางศตวรรษ” จอห์นสันกล่าว “เราต้องการให้ทุกประเทศเพิ่มความมุ่งมั่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้มากที่สุดภายในปี 2030”

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้จัดการประชุมแบบปิดร่วมกับ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และผู้นำโลกคนอื่นๆ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 กันยายน) เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นว่าจะให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

จนถึงตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นหลักของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และดูเหมือนว่าถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีอังกฤษจะสอดคล้องกับผู้นำโลกคนอื่นๆ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดยในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อ UNGA เมื่อวันอังคาร (21 กันยายน) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มความมุ่งมั่นทางการเงินเป็นสองเท่าเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในระหว่างพบปะกันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จอห์นสันก็ได้กล่าวชื่นชมสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้’ 

 

ด้าน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน ได้ให้คำมั่นสัญญาใหม่ครั้งสำคัญที่จะหยุดสร้างโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

 

ภาพ: Eduardo Munoz – Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising