×

วัคซีนเข็มกระตุ้น vs. โอมิครอน

10.01.2022
  • LOADING...
วัคซีนเข็มกระตุ้น vs. โอมิครอน

ถึงแม้โอมิครอนจะหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นจนทำให้วัคซีน 2 เข็มป้องกันอาการป่วย (การติดเชื้อแบบมีอาการ) ได้ลดลง แต่งานวิจัยของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสทำให้สามารถป้องกันอาการป่วยได้เพิ่มขึ้น และยังสามารถป้องกันอาการหนัก (การรักษาตัวในโรงพยาบาล) ได้มากกว่า 90%

 

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักรเผยแพร่รายงานประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์โอมิครอนในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปพบว่า 

 

  • วัคซีน AstraZeneca 2 เข็มไม่สามารถป้องกันอาการป่วยจากโอมิครอนหลังได้รับวัคซีนครบนานกว่า 20 สัปดาห์ 
  • ในขณะที่วัคซีน Pfizer 2 เข็มป้องกันอาการป่วยลดลงจาก 65-70% เหลือ 10% หลังได้รับวัคซีนครบนานกว่า 20 สัปดาห์
  • แต่ประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 65-70% หลังได้รับเข็มกระตุ้น 5-9 สัปดาห์ และลดลงเหลือ 40-50% หลังได้รับเข็มกระตุ้น 10 สัปดาห์ขึ้นไป 

 

ต่อมา UKHSA เผยแพร่งานวิจัยแยกอีกฉบับในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปในเว็บไซต์ Knowledge Hub พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเป็น AstraZeneca จากนั้นฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA จะป้องกันอาการป่วยได้ 60-65% ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก จากนั้นในช่วง 5-9 สัปดาห์จะลดลงเหลือ 48% และ 56% ในกรณีที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ตามลำดับ

 

ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเป็น Pfizer แล้วฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA จะป้องกันอาการป่วยได้ 65-70% ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก จากนั้นในช่วง 5-9 สัปดาห์จะลดลงเหลือ 49% และ 57% ในกรณีที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ตามลำดับ 

 

สังเกตว่าไม่ว่าวัคซีน 2 เข็มแรกจะเป็นยี่ห้อใดเมื่อฉีดวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 3 จะมีประสิทธิผลใกล้เคียงกัน แต่วัคซีน Moderna จะมีประสิทธิผลสูงกว่า Pfizer

 

อย่างไรก็ตามประสิทธิผลป้องกันอาการหนักยังสูงมากคือ 94% ในช่วง 2-9 สัปดาห์แรก และ 89% ในช่วง 10 สัปดาห์เป็นต้นไป ทั้งนี้เป็นการวิเคราะห์รวมทุกยี่ห้อ

 

ดังนั้นในการป้องกันและควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจึงควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงต่ออาการรุนแรง โดยในสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปเข้ารับเข็มกระตุ้น โดยจะได้รับเป็นวัคซีน Pfizer หรือ Moderna แต่อาจฉีดวัคซีน AstraZeneca หากไม่สามารถฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้

 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญชวนให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและการเสียชีวิต สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มนานกว่า 3 เดือนต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยสามารถติดต่อรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X