กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดประจำเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.5% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ที่ 7.2% และยังทำสถิติเป็นการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษคือ นับตั้งแต่ปี 1982 ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในขณะนี้ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่แพงขึ้น ตั้งแต่ราคาอาหาร วัตถุดิบ ค่าน้ำมัน ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ขณะที่ดัชนี CPI หลัก ที่ไม่รวมสินค้าราคาผันผวนอย่างอาหารและพลังงาน ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.9%
รายงานระบุว่า ราคาสินค้าที่ปรับตัวแพงขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาอุปสงค์และอุปทานในตลาดที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด โดยในขณะที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง บรรดาผู้ผลิตกลับไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตและปัญหาในการจัดส่งลำเลียงสินค้าทั้งทางน้ำและทางบก
นอกจากนี้ราคาข้าวของเครื่องใช้ที่แพงขึ้นยังสวนทางกับระดับรายได้ของชาวอเมริกัน โดยมีรายงานว่า รายได้ที่แท้จริงของแรงงานในสหรัฐฯ มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น เมื่อคิดคำนวณเทียบกับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
รายงานเงินเฟ้อล่าสุดส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของนักลงทุนในตลาดหุ้น Wall Street โดยฉุดให้ดัชนีทั้งสามตลาดร่วงหนักและปิดปรับตัวในแดนลบ
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปิดตลาดปรับตัวลดลง 526.47 จุด หรือ 1.47% ปิดที่ 35,241.59 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 83.10 จุด หรือ 1.81% ปิดที่ 4,504.08 จุด และดัชนี Nasdaq ขยับลดลง 304.73 จุด หรือ 2.10% ปิดที่ 14,185.64 จุด
ตัวเลขเงินเฟ้อยังดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นกว่า 2% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่อยู่ที่ 1.51%
นักวิเคราะห์มองว่า เงินเฟ้อดังกล่าวจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยส่วนหนึ่งคาดว่า Fed มีโอกาสจะขยับอัตราดอกเบี้ยแบบเต็มจำนวนที่ 1.0% ภายในช่วงเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งยังคงเชื่อว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะค่อยๆ อ่อนตัวลงต่อเนื่อง หลังปัญหาห่วงโซ่การผลิตได้รับการคลี่คลายและจากการที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศในเดือนหน้าเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและควบคุมไม่ให้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ร้อนแรงจนเกินไป อีกทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะช่วยเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่พุ่งทะยานขึ้นไปอีกได้
ด้านราคาน้ำมันวานนี้ (10 กุมภาพันธ์) มีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะความกังวลในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่จะแข็งกร้าวกว่าที่คาดไว้ จนส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน
โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 22 เซนต์ ปิดที่ 89.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 14 เซนต์ ปิดที่ 91.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ความร้อนแรงของเงินเฟ้อยังส่งผลให้นักลงทุนวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำวานนี้ (10 กุมภาพันธ์) ทำสถิติขยับขึ้นต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ ปิดที่ 1,837.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ส่วนราคาคริปโตวานนี้ (10 กุมภาพันธ์) ขยับปรับตัวลดลงรับเลขเงินเฟ้อพุ่ง โดยราคา Bitcoin ลดลง 1.29% มาอยู่ที่ 44,125.82 ดอลลาร์ ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า Bitcoin ในช่วงนี้จะเผชิญกับภาวะผันผวน และน่าจะขยับขึ้นลงอยู่ในช่วงระหว่าง 40,000-50,000 ดอลลาร์
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/02/10/january-2022-cpi-inflation-rises-7point5percent-over-the-past-year-even-more-than-expected.html
- https://www.cnbc.com/2022/02/09/stock-market-futures-open-to-close-news.html
- https://www.cnbc.com/2022/02/10/bitcoin-dips-slightly-as-10-year-treasury-yield-tops-2percent-on-hotter-than-expected-inflation-report.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP