อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) เพิ่มสูงขึ้น โดย Bond Yield อายุ 10 ปี อยู่ราว 1.35% ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลต่อตลาดการเงิน ทำให้นักลงทุนบางส่วนเทขาย หรือหันมาปรับพอร์ตสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยการเพิ่มสูงขึ้นนี้เกิดจาก 2 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ความกังวลนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะไปทางไหน เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจากตัวเลขการว่างงานที่ลดลง ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินมาต่อเนื่อง จะมีการถอน QE หรือไม่ หลายฝ่ายจับตามองใน 1-2 วันนี้ที่ Fed จะเปิดเผยแนวโน้มในระยะต่อไป คาดว่าจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำในระยะยาว
2. ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่แม้ตอนนี้คนยังให้ความสำคัญน้อย เพราะนโยบายการคลังยังมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าในวิกฤต ซึ่งเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ย่อมทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอาจจเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า
“จากความกังวล 2 เรื่องนี้ ทำให้คนเลยปรับพอร์ตสินทรัพย์ของตนเอง ส่งผลให้ Bond Yield ปรับขึ้น แต่เรามองว่าไม่ได้ปรับขึ้นรุนแรง แต่เป็นการปรับสินทรัพย์เท่านั้น”
ขณะที่ผลกระทบต่อไทยมองว่า ตามปกติ Bond Yield ของไทย จะปรับเปลี่ยนตามปัจจัยต่างประเทศ รวมถึง Fund Flow โดยช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า Fund Flow ต่างชาติเทขายพันธบัตร ตราสารหนี้ของไทยมาก แต่ยังไม่สูงจนน่ากังวล
ทั้งนี้ เมื่อ Bond Yield ขยับสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นด้วย สาเหตุเพราะอาจเห็นการขายสินทรัพย์ในประเทศเสี่ยง และกลับไปถือสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น (เหมือนสถานการณ์ในปี 2556 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถอน QE) จึงต้องจับตาดูตลาดว่าจะมองนโยบายการเงินและเงินเฟ้อสหรัฐฯ อย่างไร
“ส่วนของไทย รัฐบาลไทยจำเป็นต้องกู้เงิน แต่การฟื้นตัวของไทยยังไม่มาก Bond Yield ก็ยังไม่ขึ้นมาก ขณะที่ความเสี่ยงนโยบายการเงินยังสูง ดังนั้นจะเห็น Bond Yield ขยับขึ้นบ้าง แต่ไม่ทะลุ 2% ซึ่งอาจใช้เวลาอีกนาน”
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ Bond Yield สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น และตลาดมองว่าจะขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
รวมถึงกลุ่มคนที่มีความกังวลเรื่องโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเห็นข่าววัคซีนและแนวโน้มที่ดีขึ้นจึงปรับพอร์ตบางส่วนเข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น และหาหุ้นมีทิศทางดีขึ้นอาจส่งผลให้การเทขาย Bond Yield เพิ่มสูงขึ้น
“ครั้งนี้ที่ Bond Yield ปรับตัวดีขึ้นมาจากกลุ่มคนที่กังวลมากกว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันในบางจุด เช่น การลงทุน Alternative ต่างๆ อย่าง กลุ่มหุ้นปันผล Utility และหุ้นกลุ่มอนาคต ที่กว่าจะทำกำไรได้ในอีก 50 ปี ซึ่งนักลงทุนจะหันมาลงทุนในอะไรที่เห็นผลเลย”
ทั้งนี้ Bond Yield ที่ขยับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบ Bond Yield ของไทย ให้สูงขึ้นตาม ส่วนหนึ่งหาก Bond Yield ของสหรัฐฯ สูงกว่าไทย ย่อมทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขาย Bond ไทย และไปถือ Bond ของสหรัฐฯ มากขึ้น (และ Bond Yield ไทยจะเพิ่มสูงขึ้นตาม)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองคือเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสสูงขึ้น และอาจจะถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายว่าประชากรจะได้รับวัคซีนทั้งหมด โดยมองว่าช่วงปลายปี 2564 มีโอกาสที่ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี สูงที่สุดน่าจะอยู่ที่ราว 2% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 1.4% ซึ่งหากนักลงทุนในตลาดมองว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับสู่การใช้ชีวิตปกติ อาจทำให้เงินไหลออกมาลงทุนอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของ Bond Yield ของไทย อายุ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 1.6% มองว่ามีโอกาสที่ปลายปีจะทยอยขยับสูงขึ้นไม่เกิน 2% ขณะที่การประมูลพันธบัตรในไทยอายุ 20 ปีในวันนี้ (23 กุมภาพันธ์) อาจเพิ่มขึ้นสูง 2.3% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 2.1%
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล