ดราม่าไม่หยุดไม่หย่อน หลังตลาดบวกแรง-ลบแรงสลับกันมาหลายวัน จนเรียกได้ว่าเดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนที่ผันผวนที่สุดเดือนหนึ่งของปีเลยก็ว่าได้ เมื่อคืนที่ผ่านมา (14 ส.ค.) Dow Jones ปรับตัวลดลง 800 จุด จากความกังวลว่าเศรษฐกิจจะ Recession หรืออยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องมาจาก Inverted Yield Curve ที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ลดลงมาต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร 2 ปี SCBS จึงอยากจะเอาสถิติในอดีตมาฝากกันสักเล็กน้อยเพื่อให้คลายความกลัวและความกังวลไปบ้าง
การที่ Dow Jones ปรับตัวลดลง 800 จุด ถ้าดูที่ตัวเลขอาจจะถือว่าเยอะ และเยอะมากเป็นอันดับ 4 ของประวัติศาสตร์ (อันดับ 1 เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 5 ก.พ. -1,175 จุด) แต่ถ้าดูในแง่ของเปอร์เซ็นต์ในการปรับตัวลดลง จะพบว่าอยู่ในที่อันดับ 380 เท่านั้น
จากสถิติปี 1978-2005 หลังจากที่เกิด Inverted Yield Curve (IYC) ตลาดหุ้นอเมริกามักจะปรับตัวสูงขึ้น
เฉลี่ย 3 เดือนหลังจากเกิด IYC ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.53% เฉลี่ย 6 เดือน เพิ่มขึ้น 4.87%
เฉลี่ย 1 ปี เพิ่มขึ้น 13.48% เฉลี่ย 2 ปี เพิ่มขึ้น 14.73% และเฉลี่ย 3 ปี เพิ่มขึ้น 16.41%
แต่นี่คือตัวเลขเฉลี่ย บางครั้งตลาดก็ปรับตัวขึ้น บางครั้งตลาดก็ปรับตัวลดลง อย่างเช่นปี 1998 ที่ในช่วง 3 เดือนแรกปรับตัวลดลง 0.9% แต่พอผ่านไป 6 เดือน กลับปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.49%
ย้อนกลับไปอีกหน่อยในปี 1988 เกิด IYC ขึ้นในเดือนธันวาคม แต่ตลาดก็ยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จน 3 ปีให้หลัง S&P 500 บวกไป 36.54%
ปี 2005 เกิด IYC ในเดือนธันวาคม 1 ปีต่อมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.62% 2 ปี 18.44% 3 ปี ปรับตัวลบ 28.65% ซึ่งเป็นปีที่เกิด Financial Crisis
การที่เกิด Inverted Yield Curve (IYC) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิด Recession (เศรษฐกิจถดถอย) อย่างแน่นอนทุกครั้งไป ถึงแม้ว่าในอดีตจะมีสถิติบ่งชี้ไปในทิศทางนั้นบ้าง ซึ่งสิ่งที่เร่งให้เกิด IYC ในช่วงสั้นๆ มีหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องของสงครามการค้าที่ยกระดับขึ้น แต่ก็มีการถอยกันออกมาบ้างแล้ว การคาดการณ์ว่า FED จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุม FOMC เดือนกันยายน ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลงมาเร็วกว่าระยะสั้นที่โดน FED Fund Rate ค้ำไว้
ในปัจจุบันมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ต่างจากในอดีตมากมาย ทั้งในเรื่องของสภาพคล่องมากมาย ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ สถาบันการเงินมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง เศรษฐกิจชะลอตัวเกิดขึ้นได้หลังจากที่เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแล้วอย่าไปตกใจหรือเชื่ออย่างสนิทใจว่าเวลาเกิด Inverted Yield Curve แล้วจะต้องเกิด Recession หรือเศรษฐกิจถดถอยเสมอไป
กลับมาที่บ้านเรา จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจนถึงเที่ยงวานนี้ มี บจ. ใน SET รายงานงบแล้วกว่า 438 บริษัท ทำกำไรสุทธิ 2Q62 รวมกันได้ 1.98 แสนลบ. (-14% YoY, -21% QoQ) โดยมีเพียงกลุ่มสื่อ-บันเทิง และกลุ่มเกษตรเท่านั้นที่กำไร 2Q62 เติบโตทั้ง YoY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว) และ QoQ (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ขณะที่ 1H62 กำไรสุทธิ SET อยู่ที่ 4.51 แสนล้านบาท ลดลงจาก 1H61 ที่ 5.05 แสนล้านบาท หรือลดลง 10.8%
การลงทุนในช่วงนี้คงจะต้องเลือกสรรกันมากขึ้น และคงต้องเน้นลงทุนในหุ้นเชิงรับที่มีรายได้ผันผวนไปกับเศรษฐกิจต่ำ เช่น หุ้นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนอสังหาฯ และรีท (REIT) ที่ให้เงินปันผลสม่ำเสมอ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า