ตลาดตราสารหนี้ในประเทศเศรษฐกิจเปราะบางที่สุดของโลกบางแห่งกำลังส่งสัญญาณเตือนถึงการผิดนัดชำระ ท่ามกลางความวุ่นวายในระบบธนาคารของประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ที่ส่งให้บอนด์ยีลด์ของหลายประเทศพุ่งสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนในการออกพันธบัตรใหม่สูงขึ้น
บรรดาประเทศที่มีปัญหาในตลาดตราสารหนี้ หรือเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ กำลังแบกรับแรงเทขายในตลาดเกิดใหม่ในเดือนนี้ ส่งให้ผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) ซึ่งมักแปรผกผันกับราคาเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน นับเป็นผลพวงจากความล้มเหลวด้านการธนาคารในสหรัฐฯ และ Credit Suisse และทำให้นักลงทุนหนีจากสินทรัพย์ที่เสี่ยงที่สุด (Riskiest Asset) ทั่วโลก
โดยนักลงทุนกำลังแสดงความไม่ไว้วางใจมากขึ้น เกี่ยวกับความสามารถของหลายประเทศในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะ ตูนิเซีย โบลิเวีย และปากีสถาน ที่กำลังได้รับผลกระทบในตลาดตราสารหนี้หนักที่สุด
ขณะที่ Gordon Bowers นักวิเคราะห์จาก Columbia Threadneedle Investments กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือสภาวะการเงินโลกที่ตึงเครียดมากขึ้นอาจผลักให้ประเทศที่กำลังปรับโครงสร้าง หรือมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เข้าสู่จุดแตกหัก (Breaking Point) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินต่างประเทศทำให้การชำระหนี้ยากขึ้น และอาจกลายเป็นคลื่นของการผิดนัดชำระหนี้ได้
ด้าน Guido Chamorro, Co-Head of Emerging-Market Hard Currency Debt จาก Pictet Asset Management ในลอนดอน กล่าวว่า ความกังวลด้านการธนาคารอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ผิดนัดชำระหนี้ แต่ต้นทุนทางการเงินเหล่านั้นอาจสูงขึ้น
“ประเทศที่พันธบัตรกำลังครบกำหนดไถ่ถอน ที่มีบอนด์ยีลด์เคลื่อนไหวอยู่ที่ 15% อาจไม่ต้องการออกพันธบัตรที่ 15% แต่ผมยังสงสัยว่า อุปสงค์สำหรับพันธบัตรประเทศเหล่านั้นยังมีหรือไม่” Guido Chamorro กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หุ้นธนาคารหลายแห่งในยุโรปหยุดการซื้อขายชั่วคราว หลังราคาหุ้นปรับตัวลงตอบรับความเสี่ยงร้ายแรงของ Credit Suisse ที่ดิ่งลง 25%
- SVB ล่มเป็นเหตุ ‘Moody’s’ หั่น Outlook ระบบธนาคารสหรัฐฯ เป็นลบ หวั่นเสถียรภาพสั่นคลอน
- รอดหวุดหวิด! ‘ปีเตอร์ ธีล’ ผู้บริหารกองทุน Founders Fund ถอนเงินฝากของกองทุน ออกมาจาก ‘SVB’ ได้ทัน ก่อนธนาคารปิดตัว
อ้างอิง: