×

ตลาดบอนด์รองรับได้แม้รัฐบาลจ่อกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม (เผื่อทำดิจิทัลวอลเล็ต?)

04.04.2024
  • LOADING...
ตลาดบอนด์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) รัฐบาลไทย 10 ปี ที่ปรับตัวลดลง โดยอยู่ที่ราว 2.5% อาจสะท้อนได้ว่าตลาดบอนด์ไทยสามารถยอมรับกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นได้ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ซึ่งรัฐบาลมีการปรับประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ขึ้นไปสู่ระดับ 3,752,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152,700 ล้านบาท (จากแผนการคลังฉบับก่อนที่ 3,600,000 ล้านบาท)

 

โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้มาจากการคาดการณ์ที่ว่ารายได้รัฐบาลจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น (รายจ่ายมากกว่ารายรับ) เห็นได้จากรัฐบาลคาดการณ์ว่าการขาดดุลการคลังในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 865,700 ล้านบาท จาก 713,000 ล้านบาท ในแผนการคลังฉบับก่อน (เพิ่มขึ้น 152,700 ล้านบาท)

 

วันนี้ (4 เมษายน) การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) รัฐบาลไทย 10 ปี ที่ราว 2.5% แตกต่างกับช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 2566 อย่างมาก ที่เคยเพิ่มขึ้นทะลุ 3.3% หลังรัฐบาลไทยประกาศจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อทำดิจิทัลวอลเล็ต

 

ในวันเดียวกัน ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแผนการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2568 ของรัฐบาล โดยมองว่าแผนการออกบอนด์เท่าที่รัฐบาลสื่อสารออกมายังอยู่ในขนาดที่ตลาดรองรับได้ และเชื่อว่าการทำงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เป็นมืออาชีพ และมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการเพียงพอ

 

“เสถียรภาพตลาดการเงินไทยและความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ไทยจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเรามีวินัยทางการเงินการคลังที่ดี รวมไปถึงการสื่อสารที่ดี” ดร.สมจินต์กล่าว

 

ขณะที่ อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) รัฐบาลไทยปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเงินในประเทศ เมื่อรัฐบาลต้องการกู้ก็ยังกู้ได้ สะท้อนว่าเรามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับ

 

พร้อมทั้งมองว่า สบน. มีเครื่องมือค่อนข้างเยอะ จึงไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินผ่านการออกบอนด์ทั้งหมด และเชื่อมั่นว่า สบน. มีประสบการณ์การระดมทุนและการบริหารจัดการหนี้มายาวนาน

 

ทั้งนี้ การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นราว 150,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างกว้างขวางว่าจะถูกนำไปใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมไปถึง ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ผ่าน X ว่านอกจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นราว 150,000 ล้านบาทแล้ว รัฐบาลน่าจะออกงบกลางปี 2567 โดยขยายการกู้ชดเชยขาดดุลให้เต็มเพดาน 790,000 ล้านบาท และยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 เพื่อรวมให้ได้ 500,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลอีกทีว่าแหล่งเงินที่ใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะมาจากไหนในวันที่ 10 เมษายนนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising